กทม.ของดใช้โฟมแจกอาหาร”สนามหลวง” เผยขยะตกค้างวันละ 76 ตัน แนะปชช.นำภาชนะมาจากบ้าน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดแถลงข่าวการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมบริเวณสนามหลวง ร่วมกับนายวิจารณ์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ กองอำนวยการร่วมกรุงเทพมหานคร ท้องสนามหลวง ว่าตามที่สำนักพระราชวังได้ประกาศให้มีการถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้รับพระราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และลงนามเพื่อถวายความอาลัยพระบรมศพ ณ ศาลาสหทัยสมาคม พร้อมกันนี้ได้มีหน่วยงานต่างๆ แจกอาหารและน้ำดื่มแก่ประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมศพ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บริเวณสนามหลวงมีปริมาณขยะจำนวนมาก เฉลี่ยถึงวันละ 76 ตัน แบ่งเป็นขยะเศษอาหารเฉลี่ยวันละ 32 ตัน ขยะรีไซเคิลเฉลี่ยวันละ 45 ตัน ขยะประเภทโฟมเฉลี่ยวันละ 5 ตัน โดยเฉพาะในวันที่ 22 ต.ค. มียอดการใช้ภาชนะโฟมจากหน่วยงานที่มาตั้งโรงครัวและแจกจ่ายอาหารในบริเวณดังกล่าว ประมาณ 280,500 ใบ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราจะต้องลดปริมาณขยะโดยเฉพาะการงดใช้โฟมเนื่องจากทำลายและย่อยสลายยาก อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่าสำหรับการจัดการขยะบริเวณโดยรอบสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการดังนี้ 1.กำหนดจุดะรวบรวมขยะ 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไป) จำนวน 10 จุดหลัก 2.จัดตั้งถังขยะแยกประเภท ขนาด 130 ลิตร จุดละ 9 ถัง รวมจำนวน 90 ถัง (แยกเป็น ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป) 3.สนับสนุนถุงใสใส่ขยะแยกประเภทและสติ๊กเกอร์แยกขยะ 4.จัดรถเก็บขยะตามจุดที่กำหนด 5.จัดหาผู้รับขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ และ 6.การขายขยะรีไซเคิล อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือโรงครัวและผู้ที่จะนำอาหารมาแจกประชาชนได้ใช้ภาชนะที่ทำจากกระดาษ หรือชานอ้อยแทน พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่จะเดินทางมาถวายอาลัย ได้นำภาชนะใส่อาหารและขวดน้ำดื่มมาจากบ้านเพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณขยะอีกทาง

ด้าน นายวิจารณ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะถือเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งขยะเศษอาหาร ขวดน้ำดื่ม และขยะที่เป็นโฟม ปัจจุบันได้แก้ปัญหาด้วยการให้อาสาสมัครช่วยกันคัดแยกขยะ รวมถึงนำถุงขยะรับขยะแยกประเภทจากประชาชนก่อนทิ้ง บางส่วนที่นำไปรีไซเคิลได้ก็จะนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนขยะเศษอาหารได้มีการประสานให้กับหน่วยงานหรือผู้ประกอบการที่เลี้ยงสัตว์ได้นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ส่วนขยะทั่วไปก็นำไปฝังกลบหรือทำลายตามกระบวนการต่อส่วน แต่ขยะที่เป็นโฟมนั้นไม่สามารถทำลายหรือย่อยสลายได้ในเวลารวดเร็ว จึงต้องมีการลดปริมาณด้วยการเลิกใช้โฟมบรรจุอาหารให้ใช้วัสดุชนิดอื่นที่ย่อยสลายได้ง่ายแทน ซึ่งทางผู้ผลิตภาชนะชีวภาพ ได้แก่ บริษัท SCG Packaging ปตท. และบริษัท GRACE พร้อมให้การสนับสนุนภาชนะจำนวนหนึ่งแก่โรงครัว และจำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษให้แก่ผู้ที่จะนำอาหารมาแจกประชาชนบริเวณสนามหลวง

นายปริญญา กล่าวว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์ประสานงานอาสาสมัครทำดีเพื่อพ่อ VOLUNTEERS FOR DAD ณ ห้องประชุมศรีบูรภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดรับสมัครหน่วยงาน ประชาชน และเยาวชน เข้าร่วมเป็นจิตอาสาในการบำเพ็ญประโยชน์ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร จำนวน 6,775 คน โดยมีจิตอาสาแยกขยะ 2,364 คน โดยอาสาสมัครจะประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งนำถุงใสจัดเก็บขยะบริเวณสนามหลวงและบริเวณโดยรอบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image