เตรียมความพร้อม “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” หลากทรรศนะเอกชนก่อนบังคับใช้ปี′60

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับกฎหมายใหม่ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …” ล่าสุด อยู่ในขั้นตอนเวียนหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการคลังเตรียมเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน ต.ค.นี้ หลัง สนช.บรรจุวาระและเริ่มพิจารณาร่างกฎหมาย คาดว่าใช้เวลา 30-60 วันจนกว่าจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมภาคเอกชน ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงได้จัดสัมมนา “ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่” เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชนเป็นข้อเสนอแนะส่งให้กับกระทรวงการคลังและ สนช. ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยมีตัวแทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

นิยามที่ดินเปล่าต้องชัดเจน

Advertisement

ในที่ประชุมพบว่าประเด็นที่ต้องการความชัดเจนมากที่สุดคือที่ดินรกร้างว่างเปล่าว่ากำหนดนิยามอย่างไรเนื่องจากเกรงว่าจะมีการหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินฯด้วยการปรับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพราะเสียภาษีอัตราต่ำกว่ามากทา ง“สุมาลี สถิตชัยเจริญ”ผู้อำนวยการนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงว่าในกฎหมายหลักมีการระบุกว้างๆ ว่าการทำเกษตรกรรมมีประเภทใดบ้าง

ส่วนกฎหมายลูกกำหนดให้พื้นที่เกษตรกรรมต้องเข้าเกณฑ์ ดังนี้ 1.เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม 100% หรือ 2.เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 75% ของแปลง อีก 25% เป็นที่อยู่อาศัย นอกเหนือจากนี้คิดภาษีตามสภาพการใช้งานจริง โดยอาจมีระเบียบเพิ่มเติมกำหนดสภาพการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างไร เช่น การเว้นช่องว่างระหว่างต้นไม้ การใช้งานที่ดินตามสมควรของทำเล

เรื่องเดียวกันนี้ “กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีและกฎระเบียบ สภาหอการค้าฯ มือเซียนด้านกฎหมายภาษีของประเทศไทย นำเสนอเพิ่มเติมว่า ควรนิยามที่ดินรกร้างด้วยว่า หากมีการใช้ประโยชน์สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของแปลงแล้วถือว่าไม่ใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อให้นิยามชัดเจนขึ้น

Advertisement

ถกบ้านหลังแรก-หลังสอง

“กิติพงศ์” ชำแหละร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ เพิ่มเติมว่า เกณฑ์การเก็บภาษีบ้านหลังแรกราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่บ้านหลังที่สองเรียกเก็บตั้งแต่บาทแรกค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่าง นาย A มีบ้านหลังเดียวราคา 10 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯเปรียบเทียบกับนาย B มีบ้าน 2 หลัง หลังละ 5 ล้านบาท ต้องเสียภาษีที่ดินฯ แม้มีรายได้ระดับเดียวกัน

สอดคล้องกับความเห็นผู้เข้าร่วมสัมมนารายหนึ่งกล่าวเช่นกันว่า ตนมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 3 หลัง ใช้อยู่อาศัยเอง 1 หลัง อีก 2 หลังเป็นที่อยู่ของบุตรหลาน มองว่ากฎหมายค่อนข้างไม่ยุติธรรมเพราะที่อยู่อาศัยหลังที่ 2-3 ก็ใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริงเช่นกัน

เรื่องเดียวกันนี้มองจากมุมนักพัฒนาที่ดิน “อธิป พีชานนท์” กรรมการ บมจ.ศุภาลัย ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร แสดงข้อคิดเห็นว่า กฎหมายมีความซับซ้อนเกินไป หากเลือกเก็บภาษีบ้านทุกหลังในอัตราเดียวกันไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังแรกหรือไม่ และไม่กำหนดข้อยกเว้นให้สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท น่าจะทำให้สังคมเกิดข้อกังขาน้อยกว่านี้

ขอลดหย่อนพื้นที่รอนสิทธิ์

“อธิป”มีข้อเสนอแนะว่าขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้กับที่ดินบางประเภทที่ใช้ประโยชน์ได้ยากเพราะอัตราจัดเก็บ 1-5% เป็นภาระให้กับเจ้าของที่ดินอย่างมาก มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ที่ดินตาบอด 2.ที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์การพัฒนา เช่น พื้นที่บางกระเจ้าไม่อนุญาตให้พัฒนาโครงการจัดสรรจากข้อกำหนดผังเมือง 3.ที่ดินในโซนฟลัดเวย์หรือพื้นที่ที่เป็นทางไหลของน้ำ

นอกจากนี้ ยังเสนอแนวคิดใหม่ว่า พื้นที่หนาแน่น เช่น สีลม รัฐอาจตั้งเกณฑ์พื้นที่ว่างเปล่า 5% เพื่อดูว่าหากมีพื้นที่ว่างเปล่าเกินกว่านี้ให้เก็บภาษีตามปกติ แต่หากมีน้อยกว่านี้ควรให้โบนัสด้วยการเก็บภาษีในอัตราลดหย่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในภาพรวม อาทิ เป็นพื้นที่สีเขียว จุดรับน้ำ เพิ่มพื้นที่ระบบนิเวศให้กับเมือง เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมกับ “ผอ.สุมาลี” ได้รับคำชี้แจงประเด็นที่ดินถูกรอนสิทธิ์ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บโดยอ้างอิงมูลค่าทรัพย์สินตามราคาประเมินที่ดินรายแปลงหรือรายบล็อกของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีหลักการที่ดินถูกรอนสิทธิ์ราคาจะลดลงเพราะด้อยศักยภาพอยู่แล้ว เชื่อว่าเป็นราคาที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง

โวยวิบากกรรมชนชั้นกลาง

ด้าน “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย เสนอแนะดังนี้ 1.ขอให้รัฐลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเป็นอัตราคงที่ จากเดิมค่าโอน 2% ค่าจดจำนอง 1% เพราะมองว่าผู้ซื้อรับภาระภาษีมากเกินจำเป็น ตั้งแต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ค่าโอน, ค่าจดจำนอง หากขายอสังหาฯ ออกไปมีภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ด้วย ดังนั้น หากรัฐต้องการเก็บภาษีที่ดินฯ ควรลดหย่อนค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ชดเชย

2.กรณีซื้อคอนโดมิเนียมนำมาปล่อยเช่าขอให้จัดเก็บประเภทบ้านหลังที่สอง (เริ่ม 0.03% หรือล้านละ 300 บาท) แทนการกำหนดจัดเก็บประเภทพาณิชยกรรม (เริ่ม 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท) เนื่องจากมีข้อวิตกว่าการตรวจสอบห้องชุดปล่อยเช่าหรือไม่เปิดช่องเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจสูงมาก อาจเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่น 3.ลดภาระให้เอสเอ็มอีสำหรับการเสียภาษีอาคารพาณิชย์มูลค่าต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งรัฐเรียกเก็บประเภทพาณิชยกรรม มีภาระภาษีเริ่มต้น 0.3% โดยเสนอให้ลดหย่อนเหลือ 0.05-0.2%

4.การลดหย่อนภาษีที่ดินระหว่างการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการ เหลือ 0.05% 3 ปี หลังได้รับใบอนุญาตจัดสรรหรือใบอนุญาตก่อสร้าง เสนอให้ขยายเวลา แบ่งเป็นแนวราบ 5 ปี แนวสูง 7 ปี เมกะโปรเจ็กต์ 10 ปี เพราะเวลา 3 ปีไม่สามารถก่อสร้างและปิดการขายได้ทัน 5.ภายในเวลาที่กำหนด หากเอกชนยังมีหน่วยเหลือขายในโครงการ เสนอให้รัฐเก็บภาษีบ้านหลังที่สอง ทดแทนการจัดเก็บประเภทพาณิชยกรรม

“กฎหมายฉบับนี้จุดชนวนหลายอย่างในสังคมและเศรษฐกิจ ถือเป็นวิบากกรรมชนชั้นกลางต้องรับภาระหนักมาก จึงอยากให้บรรเทาภาระเพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้จ่ายภาษีหลายเด้ง” คำกล่าวของประเสริฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image