ทันตแพทยสภามติเอกฉันท์กล่าวโทษ’ดลฤดี’สร้างความเสื่อมเสียวิชาชีพทำหนังสือถึงฮาร์วาร์ดรับทราบ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันทันตแพทยสภา ทพ.ธรณินทร์ จรัสจรุงเกียรติ นายกทันตแพทยสภา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาที่มีการประชุมพิจารณาวาระพิเศษกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ผิดสัญญาไม่ชดใช้ทุน ว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา แต่ด้วยที่ปรากฏเป็นข่าวและสังคมให้ความสนใจ ทางคณะกรรมการทั้งคณะมีมติเอกฉันท์ ในการกล่าวโทษ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยจะส่งเรื่องให้แก่ คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรมในการสืบสวนสอบสวนต่อไป ซึ่งขั้นตอนจากนี้ทางอนุกรรมการฯจะรวบรวมข้อมูล และมีหนังสือเรียกผู้เสียหายที่ค้ำประกันทั้ง 4 คน และหากอนุกรรมการฯเห็นว่าความผิดมีมูลก็จะดำเนินการส่งต่อมายังคณะกรรมการชุดใหญ่ และจะพิจารณาตัดสินโทษความผิด มี 4 ขั้นตอน ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาต และร้ายแรงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาต

“นอกจากนี้ หากพิสูจน์ทราบในขั้นสุดท้าย และมีมติของคณะกรรมการทันตแพทยสภา จนเห็นว่า ทพญ.ดลฤดี ทำผิดข้อบังคับทันตแพทยสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538 ในกรณีสร้างความเสื่อมเสีย และไม่ดำรงตนสร้างความถูกต้องในสังคม ไม่เคารพกฎหมาย จนทำให้เสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ตรงนี้จะทำให้มีโอกาสขาดการเป็นสมาชิกภาพของทันตแพทยสภาโดยสิ้นเชิง” ทพ.ธรณินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการถูกฟ้องล้มละลาย ถือว่าสิ้นสภาพสมาชิกไปด้วยหรือไม่ ทพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า หากศาลตัดสินล้มละลายก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นในการนำมาพิจารณาให้สิ้นสภาพความเป็นสมาชิกของทันตแพทยสภา และประกอบกับมีเรื่องการสร้างความเสื่อมเสียก็ยิ่งมีน้ำหนักสูง แต่ขณะนี้ศาลยังไม่ตัดสิน จึงต้องพิจารณาตามขั้นตอนไปก่อน โดยเบื้องต้นทางอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือถึงผู้เสียหายที่ไปค้ำประกัน รวมทั้งผู้ถูกร้อง คือ ทพญ.ดลฤดี แต่ขั้นตอนต้องส่งไปตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ คือ ในประเทศไทย แต่หากติดต่อไม่ได้ ก็จะประสานต่อไป แต่หากผู้ถูกร้องไม่มาก็ถือว่าสละสิทธิ ทางอนุกรรมการฯก็จะพิจารณาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลจะดำเนินการภายในเดือนนี้

“แม้หากสุดท้ายมีการเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะมีผลในประเทศไทย เพราะ ทพญ.ดลฤดี เป็นพลเมืองอเมริกา แต่ในเรื่องจรรยาบรรณ มีผลทุกประเทศ ดังนั้น หากอนุกรรมการฯสอบสวนข้อมูลไปสักระยะหนึ่ง ทางคณะกรรมการฯ จะทำหนังสือไปยัง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงกรณีจรรยาบรรณ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเข้มงวดเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพมาก เพียงแต่ที่ผ่านมาตามข่าวระบุว่า ทางฮาร์วาร์ดบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องค้ำประกัน แต่กรณีจรรยาบรรณถือว่าสำคัญมาก” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image