เตรียมเชื่อม 3 ป่าไทย – กัมพูชา “คิม นอง” เผย คนทำงานไม่พอ เล็งจ้างคนไทย

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง 2 ประเทศเรื่องความร่วมมือด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่แนวเชื่อมต่อข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกุน โบริน อธิบดีกรมชุมชนท้องถิ่น และนายคิม นอง อธิบดีกรมอนุรักษ์และปกป้องธรรมชาติ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นตัวแทน ทั้ง 2 ประเทศต่างตระหนักถึงปัญหาการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงปัญหาพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อมาหาอาหารในพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวเขตป่าอนุรักษ์ ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมต่อพื้นที่ป่าให้กลับเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เป้าหมายการเชื่อมต่อผืนป่าระหว่างประเทศไทยและกัมพูชามีแนวเขตประเทศเชื่อมต่อกัน 817 กิโลเมตร มีพื้นที่คุ้มครองที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกันอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ 1.กลุ่มป่าพนมดงรัก – ผาแต้ม กับ ป่าคุ้มครองพระวิเฮียร์ 2.กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ กับ ภูมิทัศน์คุ้มครองบันเตยชมาร์ และ 3.กลุ่มป่าตะวันออก กับ พื้นที่สาธารณประโยชน์สามโลดและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าพนมสามโกศ โดยที่ผ่านมาคณะผู้แทน กัมพูชาได้ไปดูงานการออกแบบแนวเชื่อมต่อผืนป่าเพื่อสัตว์ป่าระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 และระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก จ.ชลบุรี จันทบุรี และตราด ซึ่งคณะผู้แทนกัมพูชาให้ความสนใจ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของราชอาณาจักรกัมพูชา

นายธัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กัมพูชา ยังให้ความสนใจระบบการป้องกันรักษาพื้นที่คุ้มครองโดยใช้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เนื่องจากกัมพูชามีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอยู่เพียงประมาณ 1,200 นาย ทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรเป็นไปอย่างจำกัด กัมพูชาจึงสนใจรูปแบบการจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ารวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทย โดยช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2560 กรมอุทยานฯ จะเดินทางไปดูรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองของกัมพูชาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image