กทม.เด้งรับไอเดีย’ชัชชาติ’ ดันขนมไทย MIB เตรียมต่อยอดสินค้า Bangkok Brand

กทม.เด้งรับไอเดีย’ชัชชาติ’ดันขนมไทย MIB เตรียมต่อยอดสินค้า Bangkok Brand สู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้ากรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แสดงความคิดเห็นว่า ในช่วงไลฟ์ผ่านเพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะรอต่อเครื่องบินและแวะชมสินค้าที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ระบุ “ไทยน่าจะทำขนม Made in Bangkok ให้คนได้ซื้อกลับเวลามาเมืองไทย มีขนมดีๆ แพ็คเกจสวยๆ ให้คนที่มากรุงเทพฯ ได้เลือกซื้อ เป็นช่องทางสร้างรายได้ ถือเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นโตเกียวบานาน่าของญี่ปุ่น” นั้น

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำข้อสังเกตดังกล่าวของนายชัชชาติมาตอกย้ำแนวคิด “ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok)” หนึ่งใน 216 นโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ที่มุ่งหวังให้คนกรุงเทพฯ ได้สนับสนุนสินค้าสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ขายสินค้ามากขึ้นในหลากหลายช่องทาง และพัฒนาสินค้าให้ไปสู่สินค้าสร้างสรรค์

Advertisement

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดเลือกเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานครและได้รับตราสัญลักษณ์ Bangkok Brand ปัจจุบันมีจำนวน 534 ผลิตภัณฑ์ จำนวนผู้ประกอบการ 345 ราย จากนี้ไปจะนำเอาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok)

ขณะเดียวกัน ก็จะรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในกรุงเทพฯ ขยายหมวดหมู่สินค้าให้หลากหลายและให้ครบถ้วนทุกมิติความสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะการแสดง ศิลปะการออกแบบ สิ่งพิมพ์ ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ งานฝีมือ ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน เครื่องเขียน เครื่องหนัง เครื่องปรุง เครื่องครัว เป็นต้น

สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok) และการสนับสนุนผู้ผลิตสินค้า ในเบื้องต้นมี 11 วิธี คือ
1. ออกแบบช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มเติม ทั้งการจัดกิจกรรมใน-นอกกรุงเทพฯ รวมไปถึงต่างประเทศ ร่วมมือกับเครือข่ายร้านค้าห้างร้าน เพื่อเปิดพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติม โดยกทม.จะศึกษาตลาดสำหรับสินค้าสร้างสรรค์และคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพควบคู่กันไป
2. พัฒนาหลักสูตรให้ผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่าง ๆ ผ่านการช่วยเหลือจากอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.)
3. จับคู่ผู้ประกอบการต่างประเภทมาออกแบบสร้างสรรค์งานร่วมกัน เช่น สิ่งพิมพ์กับเครื่องครัว เพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือของเล่นกับศิลปะการแสดง เพื่อนำตัวละครมาเป็นของเล่น เป็นต้น
4. จัดเวิร์กช็อปด้านผลิตภัณฑ์จากความร่วมมือของกทม.และภาคเอกชน เพื่อนำไปต่อยอดและขยายช่องทางการหารายได้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ และให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาสินค้าที่ยังพัฒนาศักยภาพไม่เต็มที่
5. จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการสร้างสรรค์ภายในกรุงเทพฯ ให้ผู้ที่สนใจต่อยอดธุรกิจสามารถติดต่อกันได้
6. สนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจและ e-GP เพื่อโอกาสในการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐและกทม.
7. สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อเปิดห้างหรือร้านค้าในแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ระดับโลกเพื่อนำสินค้า MIB โกอินเตอร์
8. ร่วมกันพัฒนาให้สินค้าที่ผลิตในกรุงเทพฯ มีความสร้างสรรค์ในทุกมิติ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการสื่อสาร การเล่าเรื่อง เพื่อนำเข้าสู่ตลาดพร้อมกลยุทธ์ทางการตลาดและประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ
9. จัดงานนิทรรศการและงานจัดแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมสินค้าสร้างสรรค์และผู้ประกอบการ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้เรียนรู้จากความสำเร็จของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ
10. สนับสนุนและให้ข้อมูลในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าสร้างสรรค์ MIB
11. ประเมินผลตอบรับของสินค้า ทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดและปรับปรุงในการผลิตและจำหน่ายในอนาคต

Advertisement

ในส่วนข้อมูลผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ปัจจุบันมีจำนวน 534 ผลิตภัณฑ์ จำนวนผู้ประกอบการ 345 ราย โดยจัดประเภทผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ประเภทอาหาร จำนวน 68 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ 46 ราย ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ 14 ราย ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 135 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ 98 ราย ประเภทของใช้ ของที่ระลึก และของตกแต่ง จำนวน 138 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ 106 ราย และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 169 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ 83 ราย ส่วนการจัดระดับผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ Platinum จำนวน 56 ผลิตภัณฑ์ ระดับ Gold จำนวน 148 ผลิตภัณฑ์ ระดับ Silver จำนวน 212 ผลิตภัณฑ์ และระดับ Bronze จำนวน 118 ผลิตภัณฑ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image