‘อนุทิน’ ลงนามประกาศ ไม่คุมช่อดอกกัญชา แต่กำหนดการใช้ห้ามเด็ก-คนท้องยุ่งเกี่ยว

อนุทิน ลงนามประกาศ ไม่คุมช่อดอกกัญชา แต่กำหนดการใช้กัญชา ห้ามเด็ก-คนท้องยุ่งเกี่ยว ร้านอาหารต้องติดป้ายแจ้งลูกค้า เตือน ปริมาณเหมาะสม

เวลา 11.00 น. วันที่ 16 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการควบคุมการใช้กัญชาไปในทางที่เหมาะสม ว่า เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รายงานว่ามีประชาชนเข้าใช้งานระบบแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” กว่า 32 ล้านครั้ง ออกใบจดแจ้งปลูกแล้ว 8.1 แสนใบ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของประชาชน ทั้งจดแจ้งและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ส่วนความเป็นห่วงการเข้าถึงกัญชาของเยาวชน การใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะเสพสูบ จึงต้องย้ำว่า นโยบายกัญชา กัญชงเสรีเจตนาเพื่อการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรม ไม่มีแนวทางส่งเสริมไปใช้ในทางที่ผิดเลยแม้แต่น้อย ส่วนการมวนเป็นบุหรี่ที่ทำให้เป็นโทษ ไม่ต่างจากของมึนเมา ย้ำว่าการเสพกัญชา ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นายอนุทิน กล่าวว่า แต่เพื่อความมั่นใจของประชาชน วันนี้ตนจะพิจารณาลงนามในประกาศสมุนไพรควบคุม (กัญชา) อาศัยความพ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อคุ้มครองผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี เด็ก เยาวชนและหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ดังต่อไปนี้ 1.ให้กัญชาที่เป็นพืชตระกูลแคนนาบิส (Cannabis) เป็นสมุนไพรควบคุม 2.ให้ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถใช้ประโยชน์กัญชาได้ ยกเว้นการใช้ประโยชน์ดังต่อไปนี้ การใช้ในที่สาธารณะและใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร 3.ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยของตน และ 4.ให้ประกาศมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา

“ประกาศของกระทรวงฯ ทั้งหมดเป็นกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ต้องประกาศก็มีผลบังคับใช้ แต่ประกาศเพื่อเน้นย้ำ ลดความวิตกกังวลของประชาชนที่เข้าใจว่ากัญชาเป็นพืชมีแต่โทษ แต่เราก็พยายามแยกโทษที่มีออกจากประโยชน์ และเน้นย้ำว่าการกระทำที่เป็นโทษเสี่ยงต่อกฎหมายทั้งสิ้น จึงไม่ควรทำ” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับร้านอาหารที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสม ทางกรมอนามัยก็ออกประกาศว่าจะต้องติดป้ายและคำเตือน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจรับบริการ ซึ่งการประกอบอาหารไม่ได้ใช้สารสกัดกัญชา แต่ใช้ส่วนของใบใส่ในอาหารซึ่งไม่เกิดปัญหาแน่นอน เพราะไม่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนช่อดอกต้มในอาหารก็ใส่ปริมาณพอควร ถ้าร้านบอกว่าใส่ช่อดอกเกินปริมาณ เราก็อย่าไปกิน

เมื่อถามว่าเราไม่ได้ควบคุมช่อดอกใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้ห้าม แต่ห้ามสารสกัด จะนำไปใช้ก็ใช้อย่างพอเหมาะ ร้านใดที่ใช้เกินปริมาณก็จะมีโทษด้วย ร้านอาหารเองก็ต้องติดป้ายแจ้งให้ลูกค้าทราบ วิเคราะห์ปริมาณกัญชาที่จะใช้ในอาหาร เช่นช่อดอกก็ไม่ควรเกิน 1-2 ดอกในหม้อต้ม

เมื่อถามถึงการต้มช่อดอกจะเข้าข่ายการสกัดด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการใช้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเสพสูบ นำสารสกัดกัญชาไปใช้มากเกินไป แต่การนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้องมีการขออนุญาตจาก อย.อยู่แล้ว ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า ร้านอาหารจะต้องห้ามใส่เกินปริมาณ

Advertisement

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ในตัวกฎหมายหลักจะมีระบุเรื่องปริมาณสาร THC เกินกำหนดไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ซึ่งจะทราบได้อย่างไรว่าเกิน เราดำเนินการ 2 อย่าง คือ 1.กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบ พนักงานต้องผ่านการอบรม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนอาหารที่รับประทาน อย่างคำแนะนำหากกินหมดทั้งจาน ก็ไม่ควรกินเกินวันละ 2 เมนู และส่งเสริมให้กินหลากหลายครบหมู่อาหาร เพื่อไม่ให้ปริมาณสารเกิน 2.ควบคุมที่ร้านให้ติดป้ายและคำเตือนแจ้งประชาชน พร้อมแสดงเมนูที่ผสมกัญชา ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารก็ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image