ทันตแพทยสภาจ่อยุติ ปมดราม่า ‘เพจดังหมอฟัน’ โพสต์พาดพิง ‘ทันตาภิบาล’ หลังเริ่มบานปลาย

ตามที่มีข่าวมีการแชร์ในโซเชียล กรณีเพจเฟซบุ๊กดังอย่าง “หมออนามัยขี้mouth” ระบุถึง มีทันตแพทย์คนหนึ่งโพสต์ข้อความเล่าเรื่องปัญหาการทำฟัน ว่าได้รับรักษาทำฟันให้กับผู้ป่วยรายหนึ่ง จากการสอบถามทราบว่าทำกับหมอที่คลินิกต่างจังหวัด โดยเพจดังกล่าวระบุว่า ช่างเป็นหมอที่ไร้จรรยาบรรณสิ้นดี และขอให้ทำใหม่ จากการพูดคุยกับเพื่อนๆ แพทย์เห็นตรงกันว่าไม่น่าจะทำโดยฝีมือทันตแพทย์ น่าจะเป็นทันตาภิบาล ซึ่งมีความรู้ด้านการทำฟันแค่พื้นฐาน แต่กลับมีบางคนไปเปิดคลินิกทำฟันที่ผิดกฎหมาย ปรากฏว่าหลังจากมีการแชร์ข้อมูลดังกล่าว ทันตาภิบาลซึ่งทำหน้าที่ดูแลทันตสุขภาพเบื้องต้นไม่พอใจ และเรียกร้องให้ทันตแพทยสภาออกมาดำเนินการกับทันตแพทย์คนนี้ แม้ล่าสุดจะออกมาโพสต์ขอโทษแล้ว แต่เครือข่ายทันตาภิบาล 77 จังหวัดเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

lead

เมื่อวันที่  30 ตุลาคม ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าทันตแพทย์ที่มีการโพสต์ลักษณะนี้เป็นใคร เนื่องจากข้อมูลในโซเชียลอาจยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และจะเรียกมาสอบถามทันที ทั้งนี้ ยอมรับว่าข้อความที่โพสต์ออกไปนั้นค่อนข้างสร้างความเข้าใจผิด และไม่เหมาะสม เนื่องจากประเด็นที่ต้องการเตือนประชาชนในการรับบริการทันตกรรมที่ไม่ได้คุณภาพ ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นทันตแพทย์จริงหรือไม่ หรือเป็นใคร จึงไม่ควรไปกล่าวอ้างว่าเป็นทันตาภิบาล เพราะไม่ถูกต้อง โดยจะมีการหารือถึงเรื่องนี้ว่าจะเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณหรือไม่อย่างไร

ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ทันตาภิบาลไม่ใช่หมอเถื่อน การทำงานของทันตาภิบาลในหน่วยงานของรัฐนั้นมีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ทันตาภิบาลสามารถให้บริการทันตกรรม อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลายได้ ปัจจุบันมีทันตาภิบาลกว่า 7,000 คนกระจายลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำงานทั้งในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ รวมทั้งให้บริการทันตกรรมในศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กว่า 50 ปีที่ผ่านมา ทันตาภิบาลได้ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีทันตแพย์ไปประจำ

Advertisement

ทพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า บทบาทหน้าที่หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้บริการทันตกรรมป้องกัน เช่น การทาฟลูออไรด์ การเคลือบพลาสติกปิดหลุมร่องฟัน การสอนทันตสุขศึกษา รวมทั้งการทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในชุมชน ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 ในมาตรา 28 (4) และตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขปี 2539 และ 2559 ที่ให้ทันตาภิบาลประกอบวิชาชีพทันตกรรมตามที่ระบุไว้โดยการควบคุมดูแลของทันตแพทย์ แต่ทันตาภิบาลไม่สามารถให้บริการทันตกรรมใดๆ ในคลินิกเอกชนได้ ในกรณีที่เป็นข่าวทางโซเชียลมีเดียนั้น หากมีทันตาภิบาลหรือบุคคลที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ไปให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ประชาชนในคลินิกเอกชนจริง ไม่ว่าจะเป็นการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลาย หรือทำฟันปลอม บุคคลนั้นๆ จะมีความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทันตแพทย์เจ้าของผู้ดำเนินการคลินิกเอกชนก็จะมีความผิดในฐานะที่ใช้หรือช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ซึ่งผิดข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538 หมวด 2 ข้อ 10 ซึ่งอาจได้รับโทษพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้

 

14875076_1214718628616824_587768558_n

Advertisement

44-12-e1477720046731

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image