‘เครือข่ายภูมิปัญญาอีสาน’ หนุนปลดล็อกสุราไทย ชี้สร้างอาชีพทำกินแก่ชุมชน

‘เครือข่ายภูมิปัญญาอีสาน’ หนุนปลดล็อกสุราไทย ชี้สร้างอาชีพทำกินแก่ชุมชน

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เครือข่ายภูมิปัญญาอีสานเพื่อการพึ่งพาตนเอง ร่วมกับพรรคก้าวไกล จัดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ และผลักดันการปลดล็อกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสุราก้าวหน้าภาคอีสาน โดยมีผู้ผลิตสุราไทย สุราพื้นบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนผู้ผลิตเบียร์คราฟต์ และผู้ผลิตไวน์ชุมชน จำนวนกว่า 10 จังหวัด อาทิ ระยอง นครพนม สุรินทร์ ขอนแก่น มหาสารคาม เข้าร่วมนำเสนอ และบอกเล่าประสบการณ์การผลิตสุรา และเครื่องดื่มในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนการพัฒนาการต่อสู้ของขบวนการเหล้าพื้นบ้าน และแนวทางการเปิดเสรีให้ชุมชนทำได้โดยถูกกฎหมาย ตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล โดยภายในงานนอกจากมีเวทีเสวนา การแสดงดนตรี ยังมีการสาธิตการผลิตเครื่องดื่ม และสุราท้องถิ่นชนิดต่างๆ เปิดโอกาสให้ร่วมชิมสุราพื้นบ้าน ไวน์ เบียร์ ที่ผู้ผลิตในท้องถิ่นมาร่วมกันจัดแสดง ซึ่งสร้างความสนใจให้แก่ผู้มาเข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก

นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตไวน์จาก จ.ระยอง กล่าวว่า กลุ่มของตนผลิตไวน์ และเครื่องดื่มพื้นบ้านมานานกว่า 20 ปี โดยนำเอาวัตถุดิบซึ่งเป็นผลไม้ในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมาตนมองว่า การผลิตเครื่องสุราชุมชนนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนไทย สูตรการผลิตเหล้า ไวน์ กระแช่ สาโทแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ และมีความโดดเด่นที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้พัฒนา และต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน แต่ปัจจุบันกำลังสูญสลาย เพราะข้อจำกัดหลายด้านทั้งข้อกฎหมาย และการผูกขาดจากนายทุน หรือผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งที่การทำเครื่องดื่มในระดับครัวเรือน หรือชุมชนแสดงถึงสุนทรียภาพของคนไทย ดังนั้นการที่มีเวทีนี้จะช่วยผลักดันให้มีการพูดถึงแนวทางการเปิดเสรีให้ประชาชน และชุมชนผลิตสุราพื้นบ้าน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยถูกกฎหมาย ซึ่งกลุ่มตนขอสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความหลากหลายของสุราพื้นบ้านให้ได้มากที่สุด

ด้าน นายสุแทน สุขจิตร ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนแซต-อม ออร์แกนิคฟาร์ม ผู้ผลิตสุราแช่พื้นบ้าน จาก จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จากในอดีตในชุมชนต่างๆ ใน จ.สุรินทร์จะมีอาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก มีข้าวพันธุ์พื้นเมืองชื่อว่า มะลินิลสุรินทร์ และโกเมนสุรินทร์ ที่มีรสชาติอร่อย และส่งขายไปทั่วประเทศ แต่บางปีที่ฝนฟ้าดีข้าวผลิตได้จำนวนมากจนขายไม่หมด จึงปรึกษากันว่าจะนำข้าวมาทำเป็นสาโท เพราะเป็นการแปรรูปข้าวมาเป็นเครื่องดื่มที่แต่ละครัวเรือนมักทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ถือเป็นภูมิปัญญาที่รุ่นปู่ย่าได้ถ่ายทอดไว้ให้

นายสุแทน กล่าวอีกว่า สมาชิกในกลุ่มทำเป็นทุกครัวเรือน จึงง่ายต่อการต่อยอด เพียงแค่นำมาตรฐาน และเทคโนโลยีการผลิตเครื่องดื่มยุคปัจจุบัน มาใช้กับเทคนิคโบราณที่ทำอยู่ ก็เกิดเป็นเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า “ฟิวชั่นสาโท” ที่มีสีขาวใส กลิ่นหอม รสชาติดี และสะอาดปลอดภัย เหมาะกับยุคสมัย นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาโดยผลิตลูกแป้งสาโท ส่งขายให้แก่ผู้สนใจไปทำสาโทดื่มในครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่พี่น้องเกษตรกรในชุมชน แทนการทำนาและมีรายได้จากการขายข้าวเพียงอย่างเดียว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image