7ผู้ทรงคุณวุฒิใครเป็นใคร ในเส้นทางบอร์ด สปสช.

โด่งดังอีกครั้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ไฟเขียวแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) 7 คน

หลัง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ายไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558

เนื่องจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบว่า สปสช.มีการบริหารงบกองทุนฯ ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ จนผ่านไปกว่า 7 เดือน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน มีการเรียกร้องจากภาคประชาชน เครือข่ายสุขภาพมากมายก็ไม่เป็นผล จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หรือจะเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหม่

เริ่มจากปฏิรูปการทำงานของ สปสช. ในรูปแบบ บอร์ด สปสช.เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด

Advertisement

222

ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ประกอบด้วย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือก นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และ ผศ.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์

11

Advertisement

เมื่อพิจารณาแล้วแน่นอนว่า เครือข่ายสุขภาพอดกังวลไม่ได้ว่า สัดส่วนออกมาในลักษณะสภาวิชาชีพ กลุ่มแพทยสภา และอดีตผู้บริหาร สธ. ขณะที่ผู้แทนจากภาคประชาชนนั้น ไม่มั่นใจว่า จะเสียงดังได้แค่ไหน จึงเกิดคำถามว่า สัดส่วนการคัดเลือกมีเป้าหมายอย่างไร

ซึ่งนายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการ สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน เห็นว่า ต้องพิจารณาสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิดีๆ ประวัติชัดเจนว่าใครเคยดำรงตำแหน่งใดมาก่อน แพทยสภาอาจไม่มาก แต่สภาวิชาชีพมีจำนวนมาก อย่างสัดส่วนของบอร์ด สปสช. ทั้งหมด 30 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพียง 9 คน กรรมการจากการคัดเลือก และสรรหา 21 คน มาจากภาคประชาชนมี 5 คน เท่านั้น ขณะที่ตัวแทนจากวิชาชีพมีอีก 5 คน จากท้องถิ่นอีก 4 คน

“ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คนนั้น หากเป็นกลุ่มวิชาชีพมากก็อดกังวลไม่ได้ว่า การพิจารณาอนุมัติอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่อาจกระทบบ้างกับโรงพยาบาลเอกชน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อมีประเด็นพิจารณาในบอร์ดฯ จะมีประเด็นแย้งในเรื่องการเงินการคลัง อัตราการจ่ายเงินให้แก่หน่วยบริการกรณีดีอาร์จี หรือการจ่ายเงินตามกลุ่มโรคกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชนในอัตรา 10,500 บาทขณะนั้น มีฝั่งวิชาชีพไม่เห็นด้วย และบอกว่าโรงพยาบาลเอกชนรับไม่ได้ ไม่คุ้มทุนบ้าง และขอให้เป็นเรื่องของการขอความร่วมมือดีกว่า อย่ามีกฎหมายบังคับ” นายนิมิตร์บอก และว่า แค่กังวล เพราะจากการที่เคยเป็นกรรมการ สปสช.ก็มีเรื่องราวลักษณะนี้ตลอด แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ประธานบอร์ด สปสช.ต้องฟังข้อมูลรอบด้าน หากประธานบอร์ดมีความชัดเจน นึกถึงประชาชนเป็นหลัก ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา

ลองมาพิจารณาประวัติผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคน เริ่มจาก ศ.พญ.สมศรี ปัจจุบันเป็นกรรมการแพทยสภา นพ.จรัล เป็นอดีตรองปลัด สธ. และอดีตประธานกรรมการวิชาชีพแพทย์แผนไทย นพ.พินิจ อดีตกรรมการแพทยสภา และกรรมการกลางของแพทยสมาคม อีกทั้งเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม นพ.ณรงค์ศักดิ์ อดีตผู้บริหาร สธ. ทั้ง 4 คนเคยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช.

ขณะที่นางชุมศรี อดีตผู้บริหารจากสำนักงบประมาณ นายสมใจ ปัจจุบันเป็นอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว และนั่งที่ปรึกษากฎหมายศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทยสภา และ ผศ.จิตติ เคยเป็นคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง 3 คนหลังถูกสรรหาเข้ามาใหม่

สำหรับการสรรหาจะผ่านขั้นตอนของบอร์ด สปสช.มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ มี 4 รายมาจากการเสนอชื่อโดยกรรมการแพทยสภา และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมกันเสนอ

ที่เหลือมาจากการเสนอชื่อของปลัด สธ. และกรรมการผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชน อย่างละคน ดังนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. เสนอนางชุมศรี เสนอเพียงชื่อเดียวและได้รับการคัดเลือก ศ.พญ.ประสบศรี อึ้งภากร ผู้แทนแพทยสภา และ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันเสนอ 6 ชื่อ และได้รับคัดเลือก 4 คือ ศ.พญ.สมศรี นพ.จรัล นพ.พินิจ และนายสมใจ นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์ กรรมการผู้แทน อบจ. เสนอ นพ.ณรงค์ศักดิ์ ได้รับการคัดเลือก น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการตัวแทนองค์กรเกษตรกร เสนอนายจิตติ ได้รับการคัดเลือก

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เดิมทีระบบหลักประกันสุขภาพก็เป็นธรรมในบอร์ดดีอยู่แล้ว แต่มีหมอกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ ไม่ถูกใจกับผู้แทนของเอ็นจีโอที่มี 5 คนจากทั้งหมดของบอร์ด ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนปกป้องผลประโยชน์ของผู้รับบริการ จากนี้จึงไม่รู้ว่าระบบจะเป็นอย่างไร เพราะเริ่มตั้งแต่ใช้มาตรา 44 ย้ายเลขาฯ เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ทุกอย่างจะเกิดผลกระทบเป็นแน่

ขณะที่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา และอดีตผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช. ให้ความเห็นว่า เมื่อเริ่มวาระใหม่ บอร์ดจะต้องตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินงานของ สปสช. ชุดที่ผ่านมามี 13 ชุด ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมหลักของ สปสช. โดยมีกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานอนุกรรมการมีงานต่อเนื่องจำนวนมาก สังเกตว่าผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดหลักประกันชุดนี้มาจากอดีตบอร์ด 5 คน โดย 4 คนจากชุดที่ผ่านมา ซึ่งเข้าใจปัญหาในระบบที่อยู่ระหว่างแก้ไขอย่างดี อีก 1 คนมาจากชุดก่อนหน้านั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิใหม่เพียง 2 คน เป็นกรรมการแพทยสภาเพียงคนเดียวคือ ศ.พ.ญ.สมศรี อีกคนเป็นอดีตกรรมการแพทยสภา มีผู้แทนภาคประชาชน 5 คนที่เข้มแข็งและประสานงานกับชุดที่ผ่านมาได้อย่างดี

“ดูจากรายชื่อกรรมการชุดนี้คิดว่าการทำงานจะต่อเนื่องและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างดี ผมคิดว่าต้องกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตใหม่ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของประเทศที่เปลี่ยนไปมาก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ สปสช.” พล.อ.ต.นพ.อิทธพรระบุ และว่า สิ่งที่อยากให้ติดตามดูคือนโยบายของคณะกรรมการและแนวทางปฏิบัติ มากกว่ามาแยกแยะที่มาของกรรมการที่อาจสร้างความขัดแย้งแทน

นับแต่นี้ไปคงต้องจับตาว่าจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ประชุมบอร์ด สปสช.นัดแรกวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เริ่มทำงานโดยถกประเด็นหาคณะกรรมการมาพิจารณาว่าจะมีอนุกรรมการกี่ชุด มีอะไรบ้างที่จะมาทำงานภายในบอร์ด สปสช.

โดยบอร์ด สปสช.คนหนึ่ง เสนอขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 คน ได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาทั้งหมด งานนี้ รัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดฯถับกับเอ่ยปากว่า เยอะเกินไป ให้แค่ 2 คน ก็พอ และขอจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยกันพิจารณา นำเสนอรายชื่อคณะกรรมการในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งหน้าเดือนมีนาคม

คงต้องติดตามว่า สปสช.นับจากนี้จะเป็นอย่างไร เรื่องเก่า นพ.วินัย ยังค้างคา การตีความการใช้งบก็ไม่จบ ล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงอีกว่า สปสช.ใช้งบสนับสนุนกิจการพิเศษขององค์การเภสัชกรรมมาเยียวยาผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการไม่ได้

เกิดขึ้นตามมาหรือไม่ ซีรี่ส์หนังยาว สปสช. อาจไม่จบง่ายๆ ปัญหาเก่ายังไม่จบจะมีปัญหาใหม่อีกกี่ระลอก!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image