ชัชชาติชวนจักกพันธุ์ เดินตลาดพรานนก ชี้หาบเร่-แผงลอยคือวิถีชีวิต แต่ต้องมีระเบียบ ฮึ่ม! เทศกิจทุจริตไล่ออกแน่

ชัชชาติ ตรวจตลาดพรานนก ชี้หาบเร่-แผงลอยคือวิถีชีวิต แต่ต้องเป็นระเบียบ เล็งตั้ง กก.ดูแลกันเอง ฮึ่ม! ฟันไล่ออกเทศกิจทำทุจริต

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ตลาดพรานนก เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. และ นางธราพร อำนวยสาร ผอ.เขตบางกอกน้อย ลงพื้นที่ตรวจหาบเร่แผงลอย

นายชัชชาติกล่าวว่า หาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกจุดผ่อนผันไปจำนวนมาก จุดที่มาตรวจวันนี้เป็น 1 ใน 31 จุดที่อยู่ระหว่างพิจารณาลงนามเป็นจุดทำการค้า จากที่เดินสำรวจความเห็นประชาชนเช้านี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรต้องมีอยู่เพราะเป็นวิถีชีวิตของทั้งคนซื้อและคนขาย

แต่ปัญหาเรื่องความเป็นระเบียบของทางเดินเท้าที่คนต้องใช้สัญจร ซึ่งต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน ตามข้อกำหนดเดิมถนน 4 ช่องจราจร มีทางเดิน 2 เมตร พื้นที่ตั้งแผงหาบเร่ 1 เมตร ตีเส้นแบ่งชัดเจน ในจุดนี้ฝั่งที่ตีเส้นแบ่งเป็นระเบียบดี แต่อีกฝั่งที่ไม่ได้ตีเส้นมีการรุกล้ำอยู่บ้าง ก็ต้องขอความร่วมมือกับผู้ค้าให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด สิ่งสำคัญคือต้องให้คนเดินได้สะดวก ไม่รกรุงรัง

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ต้องตั้งคณะกรรมการดูแลทุกจุดโดยให้ร้านค้าผู้ขาย คนเดิน และเจ้าของอาคารในพื้นที่มีส่วนร่วมช่วยกันกำกับดูแล ถ้าไม่เรียบร้อยก็ยกเลิก ส่วนการหยุดวันจันทร์ เพื่อทำความสะอาดต้องจริงจังมากขึ้น ตามหลักการคือต้องหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน แล้วแต่พื้นที่อาจไม่เหมือนกัน ต่อไปอาจพิจารณาให้หยุด 2 สัปดาห์ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าดูแลกันได้ดีแค่ไหน โดยจะใช้จุดบริเวณตลาดพรานนกนี้ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดระเบียบจุดอื่น ๆ ต่อไป

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนจุดผ่อนผันที่พิจารณาเพิ่มเติม ขณะนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) กำลังทบทวน 9 จุด และอยู่ระหว่างเจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาลงนาม 31 จุด อีกทั้ง มีแผนทำ Hawker Center ซึ่งกำลังเจรจาพื้นที่ใต้ทางด่วน และพื้นที่ว่างของเอกชน เพื่อจะนำหาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่เอกชนยินดีให้หาบเร่แผงลอยเข้าไปตั้งและเก็บค่าเช่าไม่แพงกำลังเร่งหาพื้นที่ที่จะผลักดันบางส่วนเข้าไป

นายชัชชาติ ยังแนะนำขอสปอนเซอร์เอกชน อย่างธนาคารออมสิน ทำร่มให้เป็นระเบียบ แต่ต้องเป็นร่มแบบถอดได้ หากเป็นเสาร่มจะเกะกะ พร้อมรับปากว่า จะช่วยหาคนร่วมออกแบบพื้นที่ตลาดพรานนก ให้เป็นระเบียบไม่รกรุงรัง สีเดียวกัน แนวเดียวกัน จะดูดีมากกว่า

Advertisement

“สิ่งที่กังวลคือเรื่องร่มของผู้ค้า ที่ดูรกรุงรัง อาจจะต้องประสานกับเอกชนที่ต้องการทำกิจกรรม CSR ทำพื้นที่ให้สวยงาม เช่น ย่านอารีย์ที่มีธนาคารออมสินให้ร่มผู้ค้าเป็นแบบเดียวกัน กทม.จะพยายามใช้วิธีนี้กับพื้นที่อื่น ตามความเหมาะสม” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดเรื่องเทศกิจ ต้องชัดเจนในการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าปรับ ค่าบำรุงรักษา และต้องไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่เป็นไร แต่อนาคตจากนี้ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเงินที่เก็บไปทำอะไร และดูว่าเงินที่เก็บไปจะกลับมาพัฒนาตอบแทนคืนสังคมได้อย่างไรหรืออาจตั้งเป็นกองทุนดูแลผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้หรือไม่

“ขอย้ำกับเจ้าหน้าที่ เทศกิจต้องโปร่งใสถ้าพบทุจริตไล่ออกแน่นอน เพราะหน้าที่ของเราคือต้องดูแลประชาชน เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจังเพราะที่ผ่านมามีคนพูดถึงเรื่องนี้จำนวนมาก อดีตไม่เป็นไรแต่อนาคตต้องช่วยกันทำให้เมืองดีขึ้นเพราะประชาชนถือว่าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจลำบาก ข้าวของแพงขึ้นอยู่แล้ว พนักงานเทศกิจโชคดีที่มีงานมี เงินเดือน มีสวัสดิการ แต่พี่น้องพ่อค้าแม่ค้าแต่ละวันยังไม่มีข้าวกิน ถือว่าเราโชคดีอย่าเบียดเบียนเขา ถ้าเบียดเบียนสุดท้ายเราไม่มีงานทำตัวเราเองและครอบครัวจะลำบาก” นายชัชชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image