จักกพันธุ์ ทัวร์บางซื่อ คุยแม่ค้า อย่าขายนอกจุดตามบัญชี ย้ำเทศกิจโปร่งใสอย่าให้ชาวบ้านครหา

จักกพันธุ์ วอนหาบเร่ตั้งอยู่จุดที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย ย้ำเทศกิจโปร่งใสอย่าให้ชาวบ้านครหา

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 16 กรกฎาคม ที่แยกเตาปูน เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ, นายโกศล สุนทรพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ลงพื้นที่ตรวจหาบเร่แผงลอยเขตบางซื่อ บริเวณตลาดมณีพิมาน ตลาดบางซ่อน และถนนกรุงเทพ – นนทบุรี

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า เดิมในปี 2548 เขตบางซื่อมีจุดการค้าจำนวน 11 จุด มีผู้ค้า 319 คน ปัจจุบันมีจุดการค้าจำนวน 5 จุด มีผู้ค้า 171 คน ปัญหาตอนนี้คือผู้ค้ามีชื่ออยู่ในบัญชี แต่ไปขายนอกจุด สำนักงานเขตต้องเอาผู้ค้าไปอยู่ในจุดที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนบริเวณทางราบทางแยก ตามหลักต้องเว้นระยะไว้ 3 เมตร แต่ปรากฏว่ามีผู้ค้ามาตั้งแผงร้าน 2 จุด ทำให้คนเดินข้ามถนนไม่ปลอดภัย จึงสั่งให้สำนักงานเขตหาพื้นที่ให้ผู้ค้าตั้งร้านในแนวเส้น ที่กทม.เสนอไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

“บริเวณการค้าทั้ง 5 จุด สามารถจัดให้ผู้ค้าลงได้ แต่บริเวณดังกล่าวผู้ค้าเปิดร้านมานาน ทำให้ติดอยู่กับที่ ซึ่งทางสำนักงานเขตมีจุดให้ค้าขายอยู่แล้ว ต้องมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจถึงการจัดระเบียบทางเท้าต้องอยู่ในกฎระเบียบ และตามที่เราขอไปทาง บช.น.ด้วย ถ้าไม่ทำตามถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ”นายจักกพันธุ์กล่าว

Advertisement

 

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการลงพื้นที่สำรวจหาบเร่แผงลอย ผู้ค้ากว่า 70% ทำตามกฎระเบียบ ส่วนอีก 30% ไม่ถูกต้องตามระเบียบ อย่างเขตดุสิตมีผู้ค้าไปตั้งพื้นที่ขายบริเวณทางมาเลยและอยู่หัวโค้งถนน ทำให้รถเมล์ที่มีความยาวเป็นพิเศษเลี้ยวรถไม่สะดวก เวลาคนข้ามถนนก็มาชนกับร้านผู้ค้า จึงสั่งให้เขตย้ายพื้นที่ขายไปในบริเวณใกล้เคียง ส่วนเรื่องร่ม พบว่ามีความเก่าและกางเลยลงผิวถนน โดยจะมีการหารือจัดหาร่มใหม่ ไม่ให้มีความเกะกะกับผู้สัญจรไปมาด้วย

Advertisement

ทุกครั้งที่ลงพื้นที่มีการทำรายงานจากสำนักเทศกิจ มีการแก้ปัญหาผู้ค้าเป็นรายๆ จะมีการบันทึกรายงานพร้อมรูปถ่ายให้กับผู้ว่าฯ กทม.ทราบด้วย อีกทั้งต้องมีการรายงานและแนวทางการแก้ปัญหา ทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน จนกว่าปัญหาจะยุติลง

“ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ค้าที่อยู่จุดเดิม แต่ติดที่ตั้งร้านตรงนั้น ซึ่งถ้าขยับออกเล็กน้อยจะสร้างความปลอดภัยกับผู้สัญจรมากกว่าเดิม โดยจะมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าบางส่วน ให้ไปขายตามจุดที่กำหนด” นายจักกพันธุ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอยเพิ่มเติมหรือไม่ นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ต้องดูหลักเกณฑ์ที่จะมีการปรับแก้เพิ่มเติม หลังจากนั้นจะมีการแจ้งให้ประชาชนทราบถึงขั้นตอนการขอตั้งร้าน ขณะเดียวกัน สำนักเทศกิจและสำนักเขต มีการจัดทำบัญชีผู้ค้าให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจาก กทม.จะเน้นให้ผู้ค้าเดิมก่อน เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องโควิด ปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้หยุดการค้าไป

นายจักกพันธุ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนลงพื้นที่ตรวจจุดทำการค้าในพื้นที่เขตคลองสาน เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย เขตดุสิต และเขตบางซื่อ โดยรวมแล้วผู้ค้าส่วนใหญ่ประมาณ 70% ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ยังมีผู้ค้าบางรายไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด เช่น ผู้ค้าในพื้นที่เขตดุสิต พบว่ามีการตั้งวางของขายตรงทางข้าม ทำให้ประชาชนข้ามถนนมาแล้วต้องเจอกับแผงค้าที่ตั้งกีดขวางทาง รวมถึงผู้ค้าผลไม้ที่ตั้งวางขายบริเวณใกล้ทางแยก ส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรและความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะรถโดยสารประทำทางซึ่งมีความยาวจะตีวงเลี้ยวลำบาก เนื่องจากตัวรถจะไปติดกับร่มที่ยื่นเข้ามาในถนน ส่วนเรื่องร่มจะเห็นได้ว่าเป็นร่มเก่าและบางส่วนยื่นรุกล้ำเข้าไปในพื้นผิวจราจร โดยจะหารือกันถึงรูปแบบลักษณะของร่ม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทาง

“เรื่องของทางเท้าเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสำนักงานเขตต้องดูแล เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะ เมื่อผู้ค้าได้รับการยกเว้นให้ใช้พื้นที่ทำการค้าได้แล้ว จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด ที่สำคัญควรมีการเอื้อกันระหว่างผู้ค้ากับประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยหรือแวะซื้ออาหาร และประชาชนผู้ใช้ทางเท้าเดินทางสัญจรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การที่เรามีจุดทำการค้าและมีอาหารที่ราคาถูก จะช่วยประชาชนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันระหว่างผู้ค้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในส่วนของเทศกิจจะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส อย่าให้ประชาชนเกิดข้อครหาว่าปฏิบัติไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากมีเรื่องร้องเรียนจะให้สำนักเทศกิจดำเนินการตรวจสอบโดยตรง ที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องร้องเรียนจะส่งให้ทางสำนักงานเขตในพื้นที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วจะเป็นการแสดงถึงความไม่โปร่งใส การที่ให้สำนักเทศกิจหรือผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย จะแสดงให้ถึงความโปร่งใสและจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง” นายจักกพันธุ์ กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image