ชัชชาติ จ่อออกระเบียบใหม่ ‘หาบเร่-แผงลอย’ ใน 2 สัปดาห์ ย้ำ เกลี่ยความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาส ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’

ชัชชาติ จ่อออกระเบียบหาบเร่แผงลอยใหม่ใน 2 สัปดาห์หน้า ย้ำ กทม.ต้องดูแลเศรษฐกิจของคนตัวเล็กตัวน้อย

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งมีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา และคณะ ร่วมประชุมด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า จากเดิมที่มีการยกเลิกจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอย ตอนนี้จะมีการทบทวนบางจุดให้กลับมาขายได้ โดยให้นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เป็นผู้สำรวจพื้นที่จุดผ่อนผันใหม่ให้มีความเหมาะสม ต่อมาเรื่องกฎระเบียบ เช่นการตั้งแผงขายต้องอยู่บนถนน 4 เลน ต้องแบ่งทางเดินเท้าไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับพื้นที่ค้าในชุมชน เช่น ซอยสุขุมวิท 101, ชุมชนคลองจั่น ซึ่งมีถนน 2 เลน มีการค้าขายอย่างยาวนาน อาจจะต้องมีระเบียบใหม่บังคับใช้ในแต่ละพื้นที่ กฎระเบียบที่แล้วมาก็ทำไม่ได้สำเร็จทั้งหมด ต้องปรับตามสภาพความเป็นจริง คาดว่าจะออกระเบียบใหม่ ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

“ต้องไม่เบียดเบียนคนเดินเท้า อยู่ในที่เหมาะสม ไม่ใช่ทุกจุดจะมีได้ เพราะบางจุดไม่เหมาะให้มาเลอะเทอะ ถ้าเป็นไปได้หาที่ดินแยกออกจากพื้นที่สาธารณะ เข้าไปที่เอกชน หรือที่หลวงที่ไม่ใช่ทางเดิน อันนี้คือจุดหลัก” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องมีคณะกรรมการในพื้นที่ช่วยดูแล ถ้ามีแล้วเลอะเทอะก็ไปทั้งหมด ต้องช่วยดูแล รับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเทไขมันลงท่อระบายน้ำ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ทาง ปล่อยให้คนอื่นมาขาย เอาของมาวางปิดทางเดิน เพราะเทศกิจไปดูแลตลอดไม่ได้

“จากการพูดคุยเห็นด้วยที่มีการแบ่งประเภทตลาด ตลาดชุมชน ตลาดออฟฟิศ และตลาดนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เดียวบังคับทั้ง 3 ตลาด พร้อมกับการร่วมมือกับเอกชน เพื่อทำพื้นที่ศูนย์อาหาร หรือ Hawker Centres เหมือนประเทศสิงคโปร์” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติยังกล่าวถึงข้อเสนอไม่ให้มีวันหยุดขายของหาบเร่แผงลอยว่า เรื่องนี้เห็นต่างกับนายสังศิต ถ้าไม่มีวันหยุดเลย ผู้ค้าจะจองพื้นที่ยาว และไม่มีการทำความสะอาด ต้องมีการหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ หรือ 1 วันต่อสองสัปดาห์ แต่จะเป็นวันไหนก็แล้วแต่พื้นที่ เช่น พื้นที่โซนออฟฟิศ อยากหยุดวันอาทิตย์ เพราะไม่มีคนมาทำงาน

Advertisement

“หน้าที่ของ กทม.ต้องดูเศรษฐกิจของคนตัวเล็กตัวน้อย ยิ่งนานวันความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น หน้าที่ กทม.ต้องเกลี่ยความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสคนตัวเล็กตัวน้อยพัฒนาความมั่นคงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น กทม.จะช่วยในเรื่องการศึกษา สาธารณสุขที่ดี ผ่อนคลายกฎระเบียบการทำมาหากิน ลดส่วยลดเส้น ให้ทุกคนมีโอกาสได้เท่าเทียมกัน

หัวใจหลักคือการกำจัดความเหลื่อมล้ำของเมือง กทม.ไม่ได้มีหน้าที่เก็บขยะ ลอกท่อ กทม.ต้องมีหน้าที่ทำเศรษฐกิจของเมืองด้วย ถ้าถามว่าเรามาอยู่ในเมืองเพื่ออะไร ก็เพราะเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะเมืองเป็นตลาดแรงงาน ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เมืองไปรอดไม่ได้” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายสังศิตกล่าวว่า เรื่องหาบเร่แผงลอย ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศถึงจุดที่มีความยากลำบาก เพราะฉะนั้นนโยบายการส่งเสริมการมีอาชีพ การมีงานทำที่สุจริต จึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงเห็นว่าควรมีการทบทวนกฎระเบียบแนวทางการปฏิบัติ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนด พื้นที่ทาการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างผู้ที่ใช้พื้นที่สาธารณะหรือถนน และคนทำมาค้าขายว่าจะปรองดองผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไร รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น การห้ามขายของในวันจันทร์ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมควรยกเลิก เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถทำงานได้ทุกวัน เพราะคนต้องกินต้องใช้ทุกวัน และอยากให้ กทม.มองผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

“ประเทศนี้จะมีความแข็งแรงได้ในอนาคตได้ ต้องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ไม่ใช่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่เพียงเล็กน้อยมาเป็นกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นความเสี่ยงของประเทศ โดย กทม. ยุคนายชัชชาติ ไม่ควรทำงานด้านสังคมอย่างเดียว ควรคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ คือการเสริมให้ธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ มีโอกาสเติบโตและมีอนาคต” นายสังศิตกล่าว และว่า ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการเช่าพื้นที่อาศัยสำหรับคนยากจน คือการหาที่อยู่ราคาถูก ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวนมาก ให้มีพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันกับทุกชนชั้นได้ ส่วนเรื่องการศึกษา อยากให้มีการปฏิรูป ไม่ให้เด็กเรียนเฉพาะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ต้องฝึกให้เด็กมีคุณธรรมจริยธรรม มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดาผู้หลักผู้ใหญ่ ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพเองได้ เด็กต้องทำธุรกิจเป็น เห็นว่านักเรียนสังกัด กทม. ซึ่งมีฐานะครอบครัวไม่ดี กทม.ควรจะชดเชยให้เด็กมีคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กในโรงเรียนอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image