ชัชชาติ หารือ สสส.-หลากมูลนิธิ ปมสิทธิ-สวัสดิการประชากร ‘ไม่มีสัญชาติไทย’ ย้ำดูแลทุกคนเท่าเทียม ไม่มียกเว้น

กทม.ประสานงานแนวทางการบริการและสวัสดิการกลุ่มประชากรไม่มีสัญชาติไทยให้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม เวลาประมาณ 15.15 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางการบริการสิทธิและสวัสดิการกลุ่มประชากรไม่มีสัญชาติไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารจากหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา สำนักงานปกครองและทะเบียน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) และเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ อาทิ Migrant Working Group APASS มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางกฎหมาย มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมประชุม

นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือแนวทางการบริการสิทธิและสวัสดิการกลุ่มประชากรไม่มีสัญชาติไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานครกับกลุ่มเครือข่ายที่ดูแลเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย บางส่วนเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีบุตรมาด้วย ซึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือการทะเบียน ซึ่ง กทม.จะดูแลทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งในส่วนของสำนักการศึกษาปีที่ผ่านมาดูแลเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย 8,480 คน ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 2,520 คน เด็กที่มีเลขประจำตัว 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 มีอยู่ 5,960 คน ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลเราก็ดูแลทุกคน มีบัตรประกับสุขภาพที่เป็นราย 2 ปี ด้วย ทางเครือข่ายได้มีข้อเสนอแนะในการดูแลตามสิทธิมนุษยชนซึ่งกทม.ก็ยินดีและถือปฏิบัติอยู่แล้ว

“ส่วนเรื่องการจดทะเบียนการศึกษา ระบบบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข ได้ให้แนวทางกับเครือข่ายว่า สิ่งสำคัญคือการสำรวจจำนวนซึ่งต้องช่วยกันในการหาข้อมูลพื้นฐานด้วย เพราะถ้ารู้จำนวนเราจะสามารถวางแผนและบริหารจัดการเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น เช่น สรุปจำนวนผู้ที่ไม่มีสัญชาติและต้องการความช่วยเหลือในระบบ นอกจากนี้ให้ดูแลไปถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นคนต่างชาติรวมถึงขอทานด้วยซึ่งมีจำนวนมาก บางกลุ่มอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ก็ต้องช่วยกันดูแลโดยนำข้อเสนอไปปฏิบัติ ซึ่งกทม.ดูแลทุกคนโดยไม่มียกเว้นเมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็จะต้องดูแลเรื่องฉีดวัคซีน สุขภาพ การศึกษา ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกกฎหมายต้องมีการเข้าจดทะเบียนและสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพราย 2 ปีเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ และถึงแม้ไม่มีบัตรประกันสังคมกทม.ก็จะดูแลตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ได้ขยายอะไรมากเกินสิทธิคนทั่วไป และดูแลตามหลักมนุษยธรรม จึงขอแนะนำและสนับสนุนให้จดทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และสิ่งสำคัญคือเด็กต้องมีการศึกษา ซึ่งก็มีแนวคิดจะสร้าง อสต. คืออาสาสมัครต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องภาษาในการสื่อสารโดยทางเครือข่ายเองอาจจะมีอาสาสมัครที่พูดภาษาต่างชาติได้ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะเป็นอาสาสมัครที่ช่วยประสานงานดูแลเรื่องต่าง ๆ เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย เป็นต้น

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image