ชัชชาติ งัดข้อ มูลนิธิกระจกเงา คุย ‘บก.ลายจุด’ ผู้ว่าฯเผย ‘มุมมองต่าง’ ที่ต้องเรียนรู้

ชัชชาติ งัดข้อ มูลนิธิกระจกเงา คุย ‘บก.ลายจุด’ ผู้ว่าฯเผย ‘มุมมองต่าง’ ที่ต้องเรียนรู้

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม เวลา 14.30 น. ที่ Mirror Art มูลนิธิกระจกเงา เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าประชุมหารือความร่วมมือระหว่าง กทม.กับมูลนิธิกระจกเงา พร้อมดูงานการคัดแยกของเหลือใช้เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม., นายสมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ร่วมหารือด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของภาคประชาสังคมแก้ปัญหาของเมือง เพราะ กทม.ไม่ได้มีกำลังมาก ทั้งเรื่องคนไร้บ้าน การจัดการขยะ โดยเฉพาะการใช้แรงงานผู้สูงอายุ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจของชีวิต การมีสังคมที่อยู่ด้วยกันไม่ให้ติดบ้านติดเตียง ด้วยแนวคิดของ กทม.ขยะคือรายจ่าย มูลนิธิมองว่าขยะคือรายได้ เป็นคนละมุมมอง เป็นบทเรียนที่ กทม.ต้องเรียนรู้จากมูลนิธิ ปัญหาการบริโภคของเมืองที่เยอะ การทำแบบนี้จะเป็นการหมุนเวียนสิ่งของ คนที่บริจาคทำให้เกิดคำว่าเมืองแบ่งปัน การแก้ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน การเอาเงินไปให้ไม่ใช่การแก้ปัญหา ทางที่ดีต้องมีการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรี สร้างความภาคภูมิใจ กทม.ต้องมีการเทรนนิ่ง เช่น การนวด ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

“การร่วมมือกันของภาคประชาสังคม กับภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เกิดพลังบวกทวีคูณ แต่ถ้าต่างคนต่างทำไม่ได้เป็นพลังบวก รัฐเองก็ไม่ได้เข้าใจหน้างานลึกในพื้นที่ของภาคเอกชน แต่มีเรื่องระเบียบต่างๆ ถ้า 2 คนรวมกันได้จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เมืองแบ่งปันคือเรื่องสำคัญ ถ้ามีของเหลือใช้อย่าไปโยนลงขยะ โอกาสจะอยู่ในหลุมฝังกลบเยอะมาก ให้ส่งมามูลนิธิคัดแยก สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน สุดท้ายแยกไม่ได้ก็เผาทำเป็นเชื้อเพลิง มีประโยชน์มากกว่าลงหลุมฝังกลบ” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า อีกปัญหาที่มองเห็นคือเรื่องการบริโภคของเมืองซึ่งมีการบริโภคเยอะ มีการจับจ่ายซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าเยอะ แต่ไม่มีที่ทิ้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนอื่นได้ โดยการหมุนเวียนหรือการบริจาค นอกจากนี้ ได้เห็นถึงพลังของผู้บริจาคที่มีน้ำใจ นี่คือความสำคัญของคำว่า “เมืองแบ่งปัน” ซึ่งการมาเยี่ยมมูลนิธิวันนี้ทำให้เห็นการทำงานในหลายมิติ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาคมและภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้เกิดพลังบวกเป็นทวีคูณ แต่ถ้าต่างคนต่างทำไม่ได้เป็นพลังบวก รัฐเองก็ไม่ง่ายที่จะสร้างงานเพราะว่าไม่เข้าใจหน้างาน ไม่มีความลึกในพื้นที่ ส่วนภาคเอกชนมีพลัง แต่ก็ติดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งหากทั้งสองภาคส่วนรวมกันได้ก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

นายศานนท์ กล่าวว่า สิ่งที่ กทม.จะดำเนินการต่อคือการเรียนรู้โมเดลที่จะทำร่วมกันกับมูลนิธิ รวมทั้งมีโครงการที่จะเปิดบ้านอิ่มใจอีกครั้งเพื่อดูแลคนไร้บ้าน โดยจะปรับการให้บริการเป็นรูปแบบ “พื้นที่สวัสดิการ” จากเดิมการใช้บริการบ้านอิ่มใจต้องลงทะเบียนเข้าพักค้างก่อนจึงจะได้รับสวัสดิการ อาทิ อาบน้ำ ซักผ้า แต่รูปแบบใหม่จะให้บริการด้านสวัสดิการก่อน ไม่ต้องลงทะเบียนพักค้าง สามารถอาบน้ำ ซักผ้าได้ ซึ่งหากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้ รวมถึงการเพิ่มจุดรวมการหางานและการเข้าสังคม นอกจากนี้ กทม.มีอัตราการจ้างงานหลายภาคส่วน อาจจะพิจารณาจ้างคนไร้บ้านเข้ามาเสริมในเรื่องการแยกขยะ เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนไร้บ้านทั้งในเรื่องที่พักและการจ้างงานด้วย ซึ่งจากการดำเนินการของมูลนิธิพบว่า หากคนไร้บ้านทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ จะมีรายได้สามารถเช่าที่พักได้ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง และมีสวัสดิการ จะทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับสู่ภาวะสังคมปกติได้

Advertisement

“กทม.ร่วมมือกับมูลนิธิผ่านโครงการหนังสือเล่มละบาท, จ้างวานข้า เก็บขยะภายในงานดนตรีในสวน ส่วนโครงการบ้านอิ่มใจตัวใหม่ เพราะเดิมต้องมีบ้านก่อนจึงมีสวัสดิการ โดยมีการเปลี่ยนใหม่ให้มีสวัสดิการก่อน เช่น การจ้างงาน มีที่อาบน้ำ มีที่นอน ซึ่งถ้ามีการจ้างงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะทำหลุดออกจากระบบคนไร้บ้าน สามารถกลับไปภาวะปกติได้” นายศานนท์กล่าว

ด้านนายสมบัติ กล่าวว่า มูลนิธิเป็นองค์กรส่วนหน้าปะทะกับปัญหา ซึ่งเห็นปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเรียนกับผู้ว่าฯกทม. ต้องกันงานบางส่วน ออกแบบงานบางประเภทให้เข้ากับผู้สูงอายุที่เป็นคนจนและต้องการทำงาน ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนเหล่านี้อยู่ที่บ้าน สูญเสียการพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจ จนออกมาเป็นคนไร้บ้าน หากเอางานมาแก้ปัญหาจะสามารถสร้างประสิทธิภาพกับสังคมได้ ตอนนี้มีการจ้าง จำนวน 150 คน ส่วนการคิดค่าแรง ผู้มาฝึกงานจ่ายค่าแรง สำหรับผู้สูงอายุ, คนไร้บ้าน ทำงานที่มูลนิธิกระจกเงา คิด 500 บาทต่อวัน ส่วนคนที่ไปทำความสะอาดกับสำนักงานเขต 400 บาทต่อวัน โดยตัวเลขค่าแรงนี้สามารถให้คนจนเมืองใช้ชีวิตอยู่ได้จริง โดยผู้ที่ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สามารถเช่าห้องพักได้ ซึ่งทางมูลนิธิจะสนับสนุนค่าที่พัก 1 เดือนแรก พร้อมอุปกรณ์การดำรงชีพต่างๆ เช่น ที่นอน หมอน หม้อหุงข้าว

“เชื่อว่าถ้าเรานำคนไร้บ้าน ผู้งอายุ มาจัดการ ที่สังคมเรียกว่าขยะ แต่ในมุมเราเป็นการจัดการพลาสติก กระดาษ สิ่งของ ถ้าจัดการเรื่องพวกนี้ได้มันจะจ้างงานมหาศาล ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนภาระเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม” นายสมบัติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติยังได้ร่วมงัดข้อกับผู้สูงอายุกลุ่ม ‘จ้างวานข้า’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโดยมูลนิธิกระจกเงาในการคัดแยกขยะ โดยผลออกมา ‘เสมอกัน’

สำหรับผู้งัดข้อกับนายชชัชาติคือ นายสุเทพ จันทร์กิมฮะ อายุ 77 ปี ประสบการณ์ทำงาน 2 ปี โดยเคยให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ขณะเก็บคัดแยกขยะที่งานกรุงเทพกลางแปลง สวนรถไฟ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า

“ผู้ว่าฯเราดี เราต้องมาคัดแยกให้ท่านผู้ว่าฯ”

(อ่านข่าว ‘จ้างวานข้า’ ยกพวกบุกสวนรถไฟ ลุง 77 ลุยเก็บขวด-ภาชนะพลาสติก สร้างรายได้ แถมช่วย ‘ผู้ว่าฯ’ แยกขยะ)

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ผ่านมูลนิธิกระจกเงา หรือผ่านบริการส่งพัสดุของ ‘นิ่ม เอ็กซ์เพรส’ ในราคาพิเศษ 25 กิโลกรัม ราคาเพียง 35 บาท ทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image