ศานนท์ คิดถึงยาย หลังฟังอังกะลุง ‘ลาวดวงเดือน’ มอบรางวัลเชิดชูเกียรติภูมิปัญญาผู้สูงอายุกทม.

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ มอบรางวัลเชิดชูเกียรติภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 10.30 น. ที่ห้องปรินซ์บอลรูม 1-2 ชั้น 11 อาคาร 1 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายศานนท์ วังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมการเชิดชูเกียรติ “ภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร”  โดยมีนางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ผู้อำนวยการเขต ผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุจาก 50 สำนักงานเขต และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ เจ้าของภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ชมรมผู้สูงอายุ ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 530 คน กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย

1. พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่เจ้าของภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานเขต เขตละ 1 ภูมิปัญญา

Advertisement

2. การจัดแสดงบูธผลงานภูมิปัญญาผู้สูงอายุจากสำนักงานเขต และบูธผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุของบ้านผู้สูงอายุบางแค 2

3. การแสดงดนตรีไทย “อังกะลุง” จากเจ้าของภูมิปัญญาผู้สูงอายุ สำนักงานเขตยานนาวา

4. การให้บริการตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ หน่วยปฐมพยาบาล จากศูนย์บริการสาธารณสุข 20 ป้อมปราบศัตรูพ่าย

Advertisement

นายศานนท์กล่าวว่า  ภูมิปัญญาเป็นองค์ความรู้ของประชาชนและชุมชนที่มีการสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เกิดจากการเรียนรู้ ทักษะ ความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในชุมชนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ผู้สูงอายุจัดได้ว่าเป็นผู้สั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพที่มีคุณค่าสำหรับชุมชนและสังคมไทย สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันดีงามสู่คนรุ่นใหม่ เป็นศูนย์รวมของภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาไทย การจัดงานในวันนี้จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้ร่วมส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนรุ่นหลัง เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของตนเอง และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามอันเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป

ในตอนหนึ่ง นายศานนท์ กล่าวหลังการแสดงของผู้สูงอายุในบทเพลง ‘ลาวดวงเดือน’ ว่า ทำให้ตนนึกถึงคุณยาย และครอบครัว

“สินทรัพย์มีทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เราอาจจะมองเห็นสินทรัพย์ที่เป็นสถาปัตยกรรม บ้านไม้ อาคารเก่า วัง วัด เหล่านี้เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ส่วนภูมิปัญญา เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นรากฐานของสินทรัพย์จับต้องได้ต่าง ๆ การแสดงลาวดวงเดือนเมื่อสักครู่ ทำให้ผมนึกถึงที่บ้าน เวลาคุณยายจะกล่อมหลานให้หลับ มักจะร้องเพลงนี้เสมอ ฟังแล้วคิดถึงเลย เป็นภูมิปัญญาที่ทำให้เราระลึกถึงผู้สูงอายุได้” นายศานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 1.16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ตระหนักดีว่าผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อครอบครัวและสังคมไทย เป็นทั้งผู้ที่มีความรู้ ภูมิปัญญา และสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ไปสู่คนรุ่นใหม่ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้ จึงกำหนดจัดกิจกรรมการเชิดชูเกียรติ “ภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร” เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ 50 สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสเผยแพร่และถ่ายทอดภูมิปัญญาของตนเองสู่สังคม ตลอดจนเพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานเครือข่ายระหว่างหน่วยงานและภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย และสำนักงานเขต 50 เขต

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ได้แก่ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีภูมิลำเนาและอาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมที่ควรอนุรักษ์และสืบทอด แบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ จำนวน 6 สาขา ประกอบด้วย

1. สาขาเกษตรกรรม เป็นผู้ที่นำแนวคิด ความรู้และประสบการณ์ มีผลงานด้านการทำไร่ ทำนา ทำไร่นาสวนผสม เลี้ยงสัตว์ ประมง ฯลฯ โดดเด่น เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียง มีแนวคิดที่ดี แปลกใหม่ที่เป็นประโยชน์และช่วยพัฒนา เช่น ผู้คิดริเริ่มการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรแบบพอเพียง เกษตรที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

2. สาขาคหกรรม คือ ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และมีผลงานโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอาหาร เป็นต้นตำรับการปรุง มีคุณค่าทางโภชนาการ ใช้วัสดุในท้องถิ่น รู้จักคิดดัดแปลงสูตรอาหาร หรือเป็นผู้ที่สืบสานตำราอาหารที่มีรสเลิศ / ด้านงานประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่ม สามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เช่น ทำผ้านวม ตัดเย็บเสื้อผ้า / ด้านที่อยู่อาศัย สามารถจัดบ้านเรือนได้น่าอยู่ ตามอัตภาพทำให้มีสุขภาพอนามัยในการอยู่อาศัย

3. สาขาศิลปกรรม ได้แก่ ด้านจิตรกรรม คือ ความสามารถในการวาดภาพฝาผนัง เขียนภาพลงบนผนังหน้าผา การสักลาย เป็นต้น / ด้านประติมากรรม คือ ผู้มีความรู้ความสามารถ มีฝีมือในการปั้น แกะสลัก การหล่อ เช่น หล่อพระพุทธรูป ปั้นโอ่ง สลักลวดลาย เป็นต้น / ด้านสถาปัตยกรรม คือ ผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์เรื่องการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน โบสถ์ ศาลา ศาลพระภูมิ เป็นต้น / ด้านหัตถกรรม (งานช่างฝีมือ) คือ ผู้มีความรู้ความสามารถในสิ่งที่ทำด้วยมือ เช่น เครื่องจักรสานต่าง ๆ / ด้านงานประดิษฐ์ คือ ผู้มีความรู้ความสามารถด้านการจัดทำผลงานเลียนแบบธรรมชาติ เช่น การประดิษฐ์ดอกไม้ บายศรี การแต่งลวดลายบนผ้า เป็นต้น / ด้านดนตรี (นาฏศิลป์ และการละเล่นพื้นบ้าน) คือ ผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเล่นดนตรี การขับร้อง การฟ้อนรำ การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น

4. สาขาสาธารณสุข คือ ผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการใช้ยาสมุนไพร การรักษาโรคแผนโบราณ การรักษาสุขภาพอนามัยร่างกาย การสืบสานตำราสมุนไพร นวดแผนโบราณ เป็นต้น

5. สาขาภาษาและวรรณกรรม คือ มีความรู้ความสามารถในการแต่งวรรณกรรมพื้นบ้าน การคิดประดิษฐ์อักษรภาษาถิ่น การสืบสานอักษรโบราณ เป็นต้น

6. สาขาอื่น ๆ เช่น ด้านพิธีกรรม ด้านโหราศาสตร์ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image