ขยับสู่‘เทียร์2’ TIP Report ‘บิ๊กป้อม’เล็ง อัพเกรดขึ้นอีก

ขยับสู่‘เทียร์2’ TIP Report
‘บิ๊กป้อม’เล็ง อัพเกรดขึ้นอีก

ถือเป็นข่าวดีที่จะมีผลต่อการประกอบธุรกิจ และกิจการอาชีพต่างๆ ของคนไทย หลังจากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report (Trafficking in Persons Report) ประจำปี 2565
ยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) เป็น Tier 2 ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ได้มอบรางวัล “TIP Report Hero” ให้แก่ นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลจากประเทศไทย จากจำนวนผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 5 คน จาก 5 ประเทศ เพื่อเป็นการยกย่องบุคคลที่อุทิศตนเพื่อต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า สหรัฐพิจารณาเห็นว่าแม้ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการ และมีความพยายามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการรายงานปี 2564 และเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

รายงานได้ระบุข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จำนวน 14 ข้อ ซึ่งคล้ายคลึงกับปีที่ผ่าน เช่น การเสนอให้ไทยเพิ่มการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงาน

Advertisement

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า การจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในปีนี้เกิดจากการทำงานของ “ทีมประเทศไทย” ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันขับเคลื่อนจนมีผลป็นรูปธรรมใน 3 ด้านสำคัญ ทั้งการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การพัฒนากลไกการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางรวมทั้งการทำงานเชิงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าว โดยถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง

เหตุผลที่ไทยได้รับการปรับสถานะดีขึ้นมี 6 ข้อ ที่มีนัยสำคัญคือ การปราบปรามเพิ่มขึ้น การพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism : NRM) ระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (RP) มาตรฐานการคัดกรองแรงงานบังคับ (SOP) คู่มือการตรวจแรงงาน การริเริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง มีการจัดตั้งศูนย์คัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์แห่งใหม่

พร้อมข้อเสนอแนะที่สำคัญ 14 ข้อ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เตรียมสั่งการนำเข้าที่ประชุมเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยข้อเสนอแนะหลายข้อเป็นการย้ำงานเดิม ส่วนที่เพิ่มใหม่เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลไทยริเริ่มสร้างสรรค์ที่เสนอแนะให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผล

Advertisement

สำหรับแนวทางปฏิบัติสำคัญๆ ที่ชัดเจนแล้วในปี 2565 จนถึงห้วงเวลาประเมินที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อรักษาสถานะการประเมินในระดับเทียร์ 2 และเพื่อให้ได้รับการประเมินในระดับที่สูงขึ้นต่อไป มีดังนี้
(1) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565 ไปสู่การปฏิบัติในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจคัดกรองแรงงานบังคับ (SOP) กลไกการส่งต่อผู้เสียหาย
ระดับชาติ (NRM) และช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (RP)

(2) พัฒนา กำกับและติดตามกลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (National Referral Mechanism) และช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) และนำไปสู่การปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยก ส่งต่อ ช่วยเหลือผู้เสียหายและบุคคลที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยก

(3) จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ เพื่อเป็นสถานที่เตรียมความพร้อมก่อนการคัดแยกผู้เสียหาย คัดกรองและคัดแยก ผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (Presumed trafficking victims)

(4) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (Counter Trafficking in Persons Center of Excellence) โดยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีกำหนดลงนาม MOU ในการประชุมเอเปค ปี’65

(5) ขยายผลมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ภายใต้โครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ

(6) ร่วมกับโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (USAID Thailand CTIP) และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล (Winrock International) เพื่อพัฒนาระบบและแนวทางป้องกันช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์กล่าวต่อว่า การสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร ทำให้การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การค้ามนุษย์มีรูปแบบสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยผลกระทบจากวิกฤตโควิด และเทคโนโลยีสื่อออนไลน์

กล่าวคือ ในปี 2562 มีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการใช้ช่องทางออนไลน์ 32 คดี จากทั้งหมด 286 คดี (คิดเป็นร้อยละ 11.19) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 มีการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางออนไลน์ 37 คดี จากทั้งหมด 133 คดี (คิดเป็นร้อยละ 27.82)

ส่วนในปี 2564 มี 107 คดี จากทั้งหมด 188 คดี (คิดเป็นร้อยละ 56.91) และในปี 2565 มีคดีที่ใช้สื่อออนไลน์มากถึง 107 คดี จากทั้งหมด 140 คดี (คิดเป็นร้อยละ 76.43) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการกระทำผิดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คดีที่น่าสนใจคือคดีค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงานที่จับกุมได้แล้ว 16 คดี แบ่งเป็น การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อไปทำงาน 14 คดี หรือ 87.50% โดยเฉพาะกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อหลอกลวงหาเหยื่อไปทำงาน สูงถึง 13 คดี หรือคิดเป็น 92.86% โดยใช้วิธีการโฆษณาชักชวนไปทำงานที่ดูน่าสนใจและรายได้ดีในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเหยื่อเดินทางไปถึงกลับบังคับ กักขัง ทำร้ายร่างกาย และหากใครทำงานได้ไม่ดี ยอดขายไม่เข้าเป้า ก็จะถูกส่งต่อไปที่อื่นอีกด้วย

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์กล่าวอีกว่า เรื่องที่ควรย้ำเตือนประชาชนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพใช้โอกาสนี้ในการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเสนอรายได้ที่สูง

หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะถูกนำตัวข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง จากนั้นก็จะถูกบังคับให้ทำงาน หรือไม่ก็บังคับให้ค้าประเวณี ตัวอย่างเช่น การหลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านโดยแก๊งสแกมเมอร์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนไทยให้เดินทางกลับประเทศได้ถึง 855 คน

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ระบุว่า พล.อ.ประวิตรได้สั่งการให้ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลฯกวดขันและให้ความสำคัญกับกรณีดังกล่าว เพราะก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเป็นวงกว้างอีกทั้งยังห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงอยากขอฝากและเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณาหางานทางออนไลน์ที่ดูดีเกินจริง เพราะอาจถูกหลอกลวงได้ ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด หรือพบกรณีการหลอกลวงทางช่องทางออนไลน์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสืบสวนคดีต่อไป

ทั้งนี้ โทรสายด่วน 1191 ศูนย์รับแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือโทร 1441 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมรับแจ้งความเดือดร้อนของประชาชนตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image