เด็กๆเฮ ชัชชาติ เล็งเพิ่มค่าอาหารศูนย์เด็กเล็กจาก 20 เป็น 32 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียนปีละ 100 พรวดเป็น 600

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 14/2565

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.จะมีการพิจารณาระเบียบเกี่ยวกับกรรมการชุมชน ให้จ่ายเบี้ยประชุมเพิ่มกรรมการชุมชน เพราะปัจจุบันมีแค่ประธานชุมชน กับเลขานุการชุมชน ที่ได้รับเบี้ยประชุม เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจให้มีการดูแลพัฒนาชุมชนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการพิจารณาปรับค่าอาหารของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จาก 20 บาทต่อหัว เป็น 32 บาทต่อหัว เพิ่มค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนจากหัวละ 100 บาทต่อปี เป็น 600 บาท ต่อปี เพิ่มค่าจ้างครูอาสาตามวุฒิ ซึ่งถ้ากรรมการได้ข้อสรุปแล้ว ทาง กทม.สามารถประกาศใช้ได้เลย

ทั้งนี้ กทม.ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนกว่า 19,000 คน จากทั้งหมดกว่า 60,000 คน

นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเข้าไปหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยมีปลัด กทม. และปลัด ทส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งมีแผนปฏิบัติการย่อย 16 แผน ได้แก่

Advertisement

1. วิจัยหาต้นเหตุ 2. โครงการนักสืบฝุ่น 3. การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น 4. การตรวจโรงงาน 5. การใช้กล้อง CCTV ตรวจจับรถปล่อยควันดำ 6. กลุ่มพัฒนาโครงการ 7. การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 8. Traffy Fondue 9. กิจกรรมสำนักงานเขต ดำเนินการ เช่นการเผาศพ การจุดธูป 10. Open Data 11. การตรวจวัดรถควันดำ 12. รถราชการพลังงานไฟฟ้า 13. การตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/แพลนท์ปูน 14. การตรวจวัดควันดำรถราชการ 15. การขยายระบบตรวจวัดฝุ่น 1,000 จุด 16. BKK Clean Air Area หรือการกำหนดพื้นที่อากาศสะอาด เช่นการปรับใช้รถขนสาธารณะให้มากขึ้นในพื้นที่ฝุ่นกระจุกตัว คาดว่าแผนทั้งหมดปัญหาฝุ่นน่าจะบรรเทาลงได้ในปลายปี

อีกทั้ง จะมีการออกข้อกำหนดให้รถที่จะมาในไซต์งานก่อสร้าง ต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยสำนักการโยธา จะเชิญผู้ประกอบการฯ มาแจ้งให้ทราบเพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ภายในเดือนตุลาคม 2565

สำหรับประเด็นเรื่องโรคฝีดาษลิงซึ่งมีการเตือนภัยเป็นโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทาง กทม. ได้มีมาตรการเบื้องต้น ให้ความรู้กับบุคลากรสาธารณสุข ให้ศูนย์สาธารณสุข โรงพยาบาล ตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยง พร้อมกับการประสานงาน กับสมาคมโรงแรมไทย ให้สังเกตอาการแขกผู้มาพักว่าเข้าข่ายเป็นโรคหรือไม่ รวมถึงประสานร้านขายยาในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคม ให้ช่วยดูอาการเฝ้าระวัง

Advertisement

“ตอนนี้ยังไม่เห็นเคสอะไร แต่อาจจะไปดูในชุมชนที่มีความเสี่ยง เช่น โซนนานา ที่มีชาวไนจีเรียอาศัยอยู่เยอะ ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ แต่ผู้ป่วยชาวไนจีเรียที่หนีออกไปประเทศกัมพูชา ไม่มีรายงานว่าเข้าไปชุมชนตรงนี้” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image