ชัชชาติ ชี้อนาคตนโยบายสาธารณสุข ต้อง ‘ละเอียด-ตอบโจทย์ความหลากหลาย’

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงานผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ (ปทพ.) รุ่นที่ 9 ซึ่งแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้การแพทย์ไทยทั้งจากสังกัดต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานคร การแพทย์ทหารและตำรวจ และการแพทย์เอกชน เพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหานำไปสู่การพัฒนาของวงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย

นายชัชชาติกล่าวว่า ในอนาคตนโยบายสาธารณสุขต้องละเอียดขึ้น ต้องตอบโจทย์ เพราะเรามีคนที่แตกต่าง เรามี Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) จะใช้นโยบายแบบ Universal policy (นโยบายสากล) ไม่กี่ข้อครอบคลุมคนทั้งประเทศไม่ได้ คนหมายเลขศูนย์ คนที่ไม่มีบัตรประชาชน คนไร้บ้าน ก็เป็นกลุ่มที่ต้อง Address ผมว่าในอนาคตนโยบายสาธารณสุขต้องละเอียดขึ้น ต้องตอบโจทย์ Niche Market มากขึ้น สมัยก่อนเป็นอนาล็อกพิมพ์นโยบายลงกระดาษ อาจมี 4-5 นโยบาย ตอบโจทย์คนกลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการของนโยบายเยอะ แต่พอมี Digital platform สามารถมีนโยบายได้เยอะ ไม่อั้น บางนโยบายอาจจะไม่มีคนต้องการเยอะ แต่ว่ามีความหลากหลาย เช่น นโยบายแจกผ้าอนามัย นโยบายกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในอนาคตเราจะเห็นนโยบายที่ละเอียดขึ้น ที่ตอบโจทย์ของ Niche Market มากขึ้น เพราะ Digital platform ไม่มีปัญหาเรื่องความจุของนโยบาย แต่ก่อนนโยบายต้องพิมพ์ใส่หนังสือ ปัจจุบันเอาเป็นแสนนโยบายก็ได้ เพราะ Digital platform มันใหญ่

“เชื่อว่ากรุงเทพฯคล้ายกับหลอดเลือด ร่างกายคนมีทั้งหลอดเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมาเรา Impress (ประทับใจ) กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่เยอะมาก พื้นที่กรุงเทพฯมีโรงพยาบาลระดับโลก เช่น รพ.ศิริราช รพ.จุฬาฯ แต่เส้นเลือดฝอยเราบอบบางมาก และชีวิตคนอยู่ที่เส้นเลือดฝอยด้วย หัวใจคือการ Balance (สมดุล) กันระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยในทุกระบบ ไม่ใช่เฉพาะสาธารณสุข ระบบในกรุงเทพฯคล้ายกับโซ่ มันไม่ได้แข็งแรงเท่ากับข้อที่อ่อนที่สุด เรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เยอะแยะ มีศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ถ้าเส้นเลือดฝอย หรือปฐมภูมิอ่อนแอ จะไม่มีทางที่จะอยู่รอดเลย เพราะทุกคนจะวิ่งมาที่ทุติยภูมิ ตติยภูมิหมด เพราะฉะนั้นด่านแรกที่ปะทะต้องเข้มแข็ง หน้าที่หลักของ กทม.คือต้องดูปฐมภูมิ กทม.มีเตียงในระบบอื่นแค่ 10% กทม.อย่าไปคิดว่าจะสร้างเตียงอีกเพราะยังไงก็ไม่พอ ยังไงเตียงก็ไม่พอ ถ้าปฐมภูมิไม่เข้มแข็งประชาชนไม่ไว้ใจ สาธารณสุขต้องเน้นเรื่องปฐมภูมิ

Advertisement

 

หน้าที่ กทม.มี 3 อย่างคือ เพิ่ม Productivity (การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง) เพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสให้คน กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่ได้สร้างภาระ สร้างประสิทธิภาพของเมือง เมืองแข่งกันที่การดึงคนเก่ง เพราะเมืองคือเศรษฐกิจ เมืองอยู่ได้เพราะงาน คนที่จะสร้างงานคือคนเก่ง อนาคตเมืองต้องดึงดูดคนเก่ง เมืองต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะคนเก่งเลือกที่จะอยู่ในที่ต่างๆ ได้ และเมืองต้องสร้างโอกาส เมืองมีหน้าที่เกลี่ยความมั่งคั่งอย่างเหมาะสม สาธารณสุขก็เป็นรูปแบบหนึ่ง คนมีเงินในกรุงเทพฯไม่ได้สนใจระบบสาธารณสุขใน กทม. เพราะไม่เคยมาใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข ไม่ต้องการ อสม. ไม่ต้องการ อสส. เพราะมีโรงพยาบาลเอกชน แต่จะเกลี่ยความมั่งคั่งอย่างไรให้คนที่เป็นเครื่องจักร เป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอยู่ได้ มีสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อย เป็นหัวใจของระบบสาธารณสุขให้อยู่ได้” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกิจกรรมเดียวกันนี้ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายพิเศษ เรื่องนโยบายสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร และนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร บรรยาย เรื่องระบบการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย รวมถึงปัญหาและระบบสุขภาพคนเมืองด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image