ต่อลมหายใจ ต้นมะขาม สนามหลวง

“ร.5 โปรดให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา” หลักฐานจากงานศึกษาค้นคว้าของ

เทพชู ทับทอง บ่งบอกให้เห็นอายุต้นมะขามที่มีมากกว่า 100 ปี ซึ่งไม่เพียงให้ความร่มรื่นแต่ยังเป็นสัญลักษณ์คู่กันกับสนามหลวงมาแต่อดีต

ปัจจุบันบริเวณรอบสนามหลวงมีต้น มะขาม 783 ต้น แบ่งออกเป็น 4 แถวเรียงรายโดยรอบ แต่ภายหลังการเดินทางของพสกนิกรทั่วประเทศทำให้สนามหลวงกลายเป็นศูนย์รวมของปวงชนชาวไทย ท้ายสุดส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพราะการหลั่งไหลของมวลประชาชนครั้งนี้ เกิดปัญหาขยะจำนวนมหาศาล คือ ราวๆ วันละ 100 ตัน ที่สำคัญทำให้ต้นมะขามมีสภาพน่าเป็นห่วง ซึ่งมี 200 ต้นเกิดอาการป่วยขั้นวิกฤตและเริ่มมีอาการใบเหลือง

จากการสำรวจของอาสาสมัครสำรวจต้นไม้จากศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร (Volunteers For Dad) น.ส.ลินนา กนกนิตย์อนันต์ ตัวแทนศูนย์ฯ รายงานว่า เกือบทั้งหมดของต้นมะขาม ดินเริ่มมีปัญหาเน่า กลิ่นเหม็น เพราะโดนกดทับจากกระสอบทราย มีน้ำทิ้ง น้ำขังและมีเศษอาหารบริเวณโคนต้นทำให้ต้นไม้ไม่สามารถดูดสารอาหารได้ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะที่โคนต้นเพื่อยืดชีวิตของต้นมะขามให้ยาวขึ้น

Advertisement

thumb_IMG_0456_1024

thumb_IMG_0470_1024

ขณะเดียวกัน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดเผยข้อมูลภายหลังการสำรวจของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ว่า “โคนต้นมะขามเกือบ 200 ต้นมีน้ำขัง เกรงว่าหากปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้จะทำให้รากต้นมะขามเน่าและตายในที่สุด” เหตุนี้จึงทำให้ทาง กทม.ต้องเยียวยาและฟื้นฟูต้นมะขามเหล่านี้อย่างด่วนที่สุด

Advertisement

ต่อมาทางสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จึงหาวิธีการแก้ปัญหาโดยเฉพาะต้นมะขาม 200 ต้นที่มีอาการป่วยรุนแรง เพื่อให้ต้นมะขามหายป่วยและมีอากาศหายใจได้อีกครั้ง จนเกิดเป็นแนวทางการฟื้นฟูโดยวิธีการช่วยต้นไม้นั้น ขั้นตอนแรก นำกระสอบที่วางปิดทับพื้นดินบริเวณรอบต้นไม้ออก เดิมทีเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนนำขยะมาทิ้งตรงโคนต้น ซึ่งในระยะยาวไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ได้อีกเนื่องจากปริมาณเศษขยะเกิดสะสม ขั้นตอนที่สอง เกลี่ยหน้าดินโดยให้ปุ๋ยและเทดินผสมลงไปให้หน้าดินสามารถฟื้นฟูตัวได้เร็ว

ขั้นตอนที่สาม นำท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 20-50 เซนติเมตร (ซม.) เจาะรูตลอดแนวยาวประมาณ 5-6 แนว ฝังลงไปรอบโคนต้นมะขามต้นละ 4-6 ท่อ จากนั้นเทกรวดลงไปแล้วจะมีน้ำส่วนเกินไหลผ่านรูมารวมกันในท่อ ต่อมาใช้กระบอกสูบน้ำขังทิ้ง

ขั้นตอนที่สี่ นำตาข่ายมามัดบริเวณปากท่อเพื่อให้อากาศออกซิเจนเข้าไปได้ ช่วยให้อากาศไหลเวียนบริเวณรากต้นมะขามและเกิดการปลี่ยนสารอาหารสู่พลังงานจำเป็นสำหรับการดำรงชีพของต้นไม้ และสิ่งสำคัญคือป้องกันไม่ให้ประชาชนทิ้งขยะในท่อพีวีซีนี้ ขั้นตอนที่ห้า เมื่อดินเริ่มแห้งตัวแล้วจะปูผิวด้วยอิฐมวลเบาชนิดเคิร์บบล็อกประมาณ 40-50 ตัวขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้นั้น ซึ่งอิฐมวลเบานี้จะช่วยให้อากาศไหลเวียนสู่รากได้ดีขึ้น ขั้นต่อมา คือนำต้นกล้ามะขามที่เพาะจากเมล็ดที่มีอายุประมาณ 1 ปี มาทาบกับต้นมะขามที่จะอนุรักษ์ แล้วปลูกลงดินบริเวณโคนต้นมะขามที่ต้องการอนุรักษ์ เพื่อให้รากของต้นมะขามใหม่นี้พยุงต้นมะขามเดิมไว้ต่อไป ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า “ป๊อปอัพต้นไม้” และขั้นสุดท้ายคือ นำหินประมาณ 60-70 ก้อนเรียงรายไว้ตรงกลางที่ไม่สามารถวางอิฐมวลเบาได้ ซึ่งก้อนหินนี้จะไม่ไปกดทับโคนของต้นไม้และไม่ทำให้เกิดรากเน่าแต่อย่างใด รวมถึงเพื่อให้เกิดความสวยงาม

ล่าสุด ข้อมูลทางสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ระบุว่า ในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เยียวยาต้นมะขามที่ประสบปัญหาไปแล้วประมาณ 80 ต้น และคาดว่าจะสามารถช่วยให้ต้นมะขามทั้ง 200 ต้นให้หายใจได้อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์นี้ และหลังจากนั้นจะตรวจสอบต้นมะขามว่ามีต้นใดควรเยียวยาเพิ่มเติมก็จะเร่งดำเนินการทันที

ระหว่างการรักษานั้นยังขอความร่วมมือจากคลื่นมหาประชาชนไม่ให้เทน้ำ เศษอาหารและทิ้งขยะบริเวณต้นมะขามเด็ดขาด และขอให้ประชาชนผู้จงรักภักดีนำขยะไปทิ้งให้ลงถังทั้งสีน้ำเงิน เหลือง เขียวตามจุดต่างๆ ที่ทาง กทม.จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้เพื่อช่วยกันดูแลรักษาต้นมะขามที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ปลูกนี้” อยู่เคียงคู่สนามหลวงต่อไปอีกสองสามสี่ห้าร้อยปี….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image