นักวิชาการ หวั่นโศกนาฏกรรมใหญ่ เชื่อ ‘บึ้ม 3 จว.ใต้’ ส่งสาร 3 ทาง – สะพรึงวงกว้าง สร้างพลัง ดิสเครดิต

นักวิชาการ เชื่อปม ‘บึ้ม 3 จังหวัดชายแดนใต้’ ส่งเมสเสจ 3 ทาง สะพรึงวงกว้าง สร้างพลัง ดิสเครดิต – รับไม่ได้ ‘วางเพลิงปั๊ม’ สัญญาณร้าย เสี่ยงโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่

สืบเนื่องกรณี มีคนร้ายลอบวางระเบิดปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อ หลายจุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วงกลางดึกวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นพบจุดที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 17 จุด ในพื้นที่ จ.ปัตตานี 2 จุด จ.ยะลา 6 จุด และจ.นราธิวาส 9 จุด เป้าหมายคือร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 11 แห่ง มินิบิ๊กซี 4 แห่ง เสาส่งสัญญาณ 1 แห่ง และปั้มบางจาก 1 แห่ง นั้น

อ่านข่าว : คนร้ายลอบวางระเบิด 17 จุด 3 จว.ชายแดนใต้ (มีคลิป)

อุกอาจ คนร้ายบุกปั๊มน้ำมัน ไล่พนักงานออกไป ก่อนวางบึ้ม! ไฟไหม้วอดกลางดึก

ใต้บึ้มรัวๆ รองแม่ทัพน้อย 4 เผยคืนเดียว 17 จุด คาดกดดันรบ. ทำลายความน่าเชื่อถือ

Advertisement

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงกรณีดังกล่าว โดยมองปัจจัยในการก่อเหตุว่า เอาเข้าจริงแล้วตนมองว่ามีอยู่ 2 แง่มุมด้วยกัน ประเด็นแรกคือ 1.กระบวนการพูดคุยสันติสุข ที่ยังมีการดำเนินการพูดคุยไปอย่างต่อเนื่อง และในหลายเรื่องมีความพยายามที่จะสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” หรือแม้กระทั่งทำให้กระบวนการพูดคุย-สร้างความไว้วางใจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ยังมีแง่ของกลุ่มคนที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ หรือแม้กระทั่งการพยายามจะใช้คำว่า “เจ้าหน้าที่มีการจับกุมในพื้นที่” ก็ทำให้มีการปะทะกันมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่ 2.น่าเป็นห่วงมากพอสมควร เพราะในกระบวนการพูดคุยจะมี “กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุข” ซึ่งกลุ่มเหล่านี้พยายามที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือพยายามทำให้การก่อเหตุมี “พลัง” สามารถเรียกร้องความสนใจจากหมู่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ความสำคัญ หรือเชิญเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยด้วยกัน

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี นอกจากปัจจัย 2 กลุ่มนี้ ยังมีปัจจัยแทรกซ้อนอยู่หลายเรื่องด้วย คือการก่อเหตุเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

Advertisement

“เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาก็จะมีเหตุของกลุ่มอาชญากรรม หรือกลุ่มผลประโยชน์ ที่เบี่ยงเบนความสนใจ จะมีปัจจัยแทรกซ้อนกันอยู่หลายเรื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิอธิบายว่า สำหรับกระบวนการพูดคุยสันติสุข แม่งานหลักคือ ขบวนการ BRN แต่เหตุเมื่อคืนนี้ยังไม่ชัด และ BRN เอง ก็ยังไม่ได้ออกมาแถลงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในเวลานี้ ว่า BRN เป็นคนลงมือก่อเหตุเมื่อคืนหรือไม่ทั้ง 17 จุด ถ้าหาก BRN แสดงออกถึงความรับผิดชอบ แล้วด้วยมูลเหตุอะไร ? เพราะว่าก่อนหน้านี้มีความพยายามพุดคุยกันถึง “ความจริงใจของรัฐไทย” ด้วย

“ถ้ามองในแง่นี้แล้ว ก็ต้องรอดูว่าใครจะเป็นคนแสดงความรับผิดชอบ เรายังไม่ได้ยืนยันว่า BRN ทำ อาจจะมีบางกลุ่มที่ไม่ใช่ BRN แต่พยายามที่จะส่งสัญญาณอยู่ข้างนอก หรือแม้กระทั่งมีภัยแทรกซ้อนเข้ามาอีก” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิระบุ

เมื่อถามถึงลักษณะการก่อเหตุ โดยเฉพาะการวางเพลิงโดยเน้นปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ สื่อนัยยะอะไรหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิเผยว่า ในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากแสดงออกแบบนี้ สิ่งแรกคือเพื่อ 1. ลดความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐ และที่สำคัญ เป็นการกระทำในลักษณะที่ชี้ให้เห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยของรัฐในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน “ด้อยประสิทธิภาพ” นั่นคือประเด็นแรก

ประเด็นที่ 2 โดยปกติการโจมตีของขบวนการใน 3 จังหวัด จะเน้นเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ แต่การโจมตีเป้าหมายในเขตใหญ่ขนาดนี้นั้นหายไปนาน จึงทำให้เกิดความน่าสนใจว่า การโจมตีเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจและการพุ่งเป้าไปที่ร้านสะดวกซื้อชื่อดังแบบนี้ จะกลายเป็นการพยายามสร้างความน่าสะพรึงกลัวให้กับชุมชน และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดเพิ่มมากขึ้น

“ปกติการก่อเหตุแบบนี้ โจมตีเป้าหมายในลักษณะนี้ เรามักจะมองว่าคือ การพยายามข่มมวลชนไม่ให้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ว่าการก่อเหตุครั้งนี้ ‘แปลกว่าครั้งก่อนๆ’ คือเน้นพื้นที่เขตเมือง ไม่ได้เน้นในพื้นที่ชุมชนโดยทั่วไป

กล่าวคือ เน้นสร้างความน่าสะพรึงกลัวในพื้นที่วงกว้าง เพราะใครๆ ก็เข้าร้านสะดวกซื้อ เป็นเมสเสจใหญ่ เพราะเป็นทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ที่เมื่อวางระเบิดแล้วจะเกิดผลกระทบทางด้านการเมือง หรือการลดความน่าเชื่อถือ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งต่อประชาชน ทั้งต่อประชาชนที่อาจจะไม่เห็นด้วย และประชาชนที่อาจจะถูกกดดันว่าตัวเองยังต้องให้การสนับสนุนขบวนการอยู่ เพราะตอนนี้ขบวนการก็มีพละกำลังในการสู้กับเจ้าหน้าที่ เป็นเมสเสจที่ส่งไป 3 ทาง ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

เมื่อถามว่า ปัจจัยช่วงปลายสมัยของรัฐบาล เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิชี้ว่า ในแง่ของการพยายามมองว่า เป็นการก่อเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนผ่าน หรือความวุ่นวายทางด้านการเมืองระดับประเทศ ซึ่งหากมองความเป็นไปในลักษณะนั้น ตนคิดว่า “เป็นไปได้ค่อนข้างน้อย”

“เพราะเอาเข้าจริงแล้ว กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาจจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการส่งสัญญาณอะไรต่อรัฐบาลหรือไม่ ? แต่ในช่วงหลังจะเป็นการส่งสัญญาณ เรื่อง “การพูดคุยสันติสุข” ซึ่งถ้ามีการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลอีก ก็อาจมองในแง่สัญญาณของนโยบายที่ผ่านมาว่า อาจจะด้อยประสิทธิภาพ

ถ้าจะบอกว่าเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ก็คือกรณีที่ผมเรียกว่า ‘ปัจจัยแทรกซ้อน’ ที่อาจจะมีอยู่บ้าง เช่น ในเรื่องของการเมืองภายในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการเมืองในเชิง ‘ดิสเครดิต’ คู่แข่งทางการเมือง แบบนี้เราถือเป็นปัจจัยแทรกซ้อน แต่ว่า ณ ตอนนี้ก็อาจด่วนสรุปเกินไปว่าจะเป็นปัจจัยการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือการเมืองฝั่งตรงข้าม ต้องดูท่าทีว่าจะมีกลุ่มไหนแสดงออกความรับผิดชอบด้วยหรือไม่” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิระบุ

ถามต่อว่า แล้วที่แน่ชัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุครั้งนี้คืออะไร ?

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิชี้ว่า ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด นอกจากร้านสะดวกซื้อและอีกหลายร้าน ซึ่งตนให้ความสนใจอย่างมาก คือการวางระเบิดปั๊มน้ำมัน เพราะเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก

“คนที่สนใจเรื่องของสงครามกลางเมือง เรื่องแบบนี้ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะว่าการวางระเบิดปั๊มน้ำมัน ไม่ได้เป็นการวางระเบิดโดยจำกัดขอบเขตพื้นที่ของวัตถุระเบิด ที่สำคัญปั๊มน้ำมันคือพื้นที่ซึ่งถ้าเกิดระเบิดขึ้นแล้วสามารถขยายเป็นวงกว้างและกระทบกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้น นี่คือจุดพลิกผันสำคัญที่สามารถดิสเครดิตได้ สร้างผลกระทบอันก่อให้เกิดความงุนงงว่า เกิดจากเหตุอะไร ส่งสัญญาณอะไรหรือไม่

แต่การวางระเบิดปั๊มน้ำมัน ผมคิดว่าเป็น ‘ผลลบทางการเมือง’ ต่อผู้ที่ก่อเหตุเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรืออาจจะเป็นกลุ่มนอกกระบวนการ คุณอาจจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ หรืออาจจะเป็นฝั่งการเมือง แต่นี่คือการกระทำที่ก่อความสุ่มเสี่ยงให้เกิด ‘โศกนาฏกรรมขนาดใหญ่’ ซึ่งเอาเจริงแล้วเราไม่สามารถยอมรับเรื่องนี้ได้เลย” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

เมื่อถามว่า สุดท้ายควรจะต้องมีการเจรจา หรือดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไร ?

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าวว่า ตนคิดว่าการเจรจา รีเช็กว่ากองกำลังของใครที่ปฏิบัติการ และมีอำนาจในการควบคุมปฏิบัติการอย่างแท้จริง ก็ยังเป็นโจทย์เดิมที่ต้องมานึก และพูดคุยกันใหม่ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีภัยแทรกซ้อน ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด กลุ่มผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มการเมือง เป็นสิ่งที่ตนให้ความสนใจ

“เพราะเหตุใน 3 จังหวัด จะบอกว่าเป็นเหตุที่เกิดจากการเคลื่อนไหวเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียวก็พูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องภัยแทรกซ้อนและกลุ่มผลประโยชน์ ก็มีอยู่เบื้อหลังหลายเรื่องเหมือนกัน” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image