ศูนย์จีโนมฯ อัพเดตผลวิจัย ฝีดาษลิง 2022 ระบาดผ่านเซ็กซ์ทางทวารหนัก ปาก ช่องคลอด

ศูนย์จีโนมฯ อัพเดตผลวิจัย ฝีดาษลิง 2022 ระบาดผ่านเซ็กซ์ทางทวารหนัก ปาก ช่องคลอด

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics อัพเดตผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยการแพร่ระบาดของ โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) ในปี 2022 ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงนอกทวีปแฟริกา ในปี 2022 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะทางทวารหนัก ทางปาก และช่องคลอด ทั้งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรทราบว่า ไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษลิงสามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร เพื่อช่วยในการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคฝีดาษลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า “ใช่หรือไม่” โรคติดเชื้อฝีดาษลิงในปี 2022 ที่กำลังระบาดอย่างหนักนอกทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่จะแพร่ติดต่อระหว่างชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (anal and oral intercourse between men) มีเพียงส่วนน้อยที่ติดต่อจากการสัมผัสทางผิวหนัง (prolonged skin-to-skin contact) หรือผ่านสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน?

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรทราบว่า ไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษลิงสามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร (route of transmission/infection) อันจะช่วยในการควบคุม ป้องกัน และรักษา โรคติดเชื้อฝีดาษลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.โรซามุนด์ เลวิส (Rosamund Lewis) หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโรคฝีดาษลิง องค์การอนามัยโลก แถลงว่า “เรายังไม่ทราบ เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน” พอที่จะสรุปได้ว่าไวรัสฝีดาษลิงติดต่อผ่านการมีมีเพศสัมพันธ์
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (The United States Centers for Disease Control and Prevention, U.S. CDC) ได้สรุปการติดต่อระหว่างคนสู่คนของไวรัสฝีดาษลิง ปี 2022 ไว้ดังนี้

Advertisement

– การสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มฝีหนอง สะเก็ด หรือสารคัดหลั่งในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิง
-สัมผัสสิ่งของ เสื้อผ้า เครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว และพื้นผิววัสดุที่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงใช้หรือสัมผัส
-สัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ
การติดต่อสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการติดต่ออย่างใกล้ชิด ได้แก่
-การร่วมเพศทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด หรือสัมผัสอวัยวะเพศ (องคชาต อัณฑะ ริมฝีปาก และช่องคลอด) หรือทวารหนัก (รูก้น) กับผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง
-กอด นวด และจูบ
-ติดต่อกันแบบหน้าแนบหน้าอย่างยาวนาน
-การสัมผัสผ้าและสิ่งของต่างๆ ระหว่างมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคฝีดาษลิง โดยสิ่งของเหล่านั้นยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ชุดที่สวมใส่ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และเซ็กส์ทอย

ผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกว่าผื่นหรือตุ่มแผลจะหายสนิท และเกิดชั้นผิวหนังใหม่ขึ้นมาแทน ใช้เวลา 2-4 สัปดาห์

สิ่งที่เรายังไม่ทราบและบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังค้นคว้าวิจัยอยู่เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง คือ

Advertisement

-ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ระบาดได้จากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้หรือไม่ (asymptomatic infection)
-ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในระยะใดที่มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางสารคัดหลั่งทางเดินหายใจไปสู่ผู้อื่นได้
-โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้หรือไม่
(https://www.cdc.gov/poxvirus/monkeypox/transmission.html)

มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเริ่มออกมาตั้งข้อสังเกต เช่น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 นพ.เจฟฟรีย์ คลอสเนอร์ (Jeffrey Klausner) แพทย์โรคติดเชื้อแห่ง University of Southern California และ นพ.เล่าจื่อ อัลลัน-บลิทซ์ (Lao-Tzu Allan-Blitz) ที่ Brigham and Women’s Hospital ในบอสตัน ได้ร่วมนำเสนอบทความทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้อโต้แย้งที่ว่า การระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในปัจจุบันส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและทางปาก (anal and oral intercourse) ระหว่างชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย

ในการศึกษาผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง จำนวน 197 ราย ในกลุ่มชายรักชายในลอนดอน ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ในวารสาร The BMJ ซึ่งเป็นวารสารของ British Medical Association นักวิจัยพบว่า ร้อยละ 56 ของผู้ติดเชื้อมีรอยโรคในบริเวณอวัยวะเพศ และร้อยละ 42 มีบริเวณทวารหนัก และในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ในวารสาร The New England Journal of Medicine ทีมนักวิจัยระดับโลกได้รวบรวมข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง จำนวน 538 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจากทั่วโลกพบว่า ร้อยละ 73 มีรอยโรคที่บริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณทวารหนัก

ดร.โอริออล มิตจา (Oriol Mitja) รองศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Germans Trias i Pujol ในสเปน ผู้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร The Lancet กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเชื้อไวรัสสัมผัสกับเยื่อเมือกในบริเวณทวารหนัก อวัยวะเพศ ปาก และลำคอ

ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่เข้าทางเยื่อบุช่องปาก หรือทางทวารหนักได้ง่ายกว่าการสัมผัสกับผิวหนังที่ปกคลุมร่างกาย ซึ่งผิวหนังส่วนนั้นจำเป็นต้องมีรอยถลอกหรือแผลสดไวรัสถึงจะเข้าสู่ร่างกายของผู้นั้นได้

ดร.อิริธ เดอ แบทเซลิเยร์ (Irith De Baetselier) และทีมนักวิจัยจากเบลเยียม ได้นำตัวอย่างจากการสวอปบริเวณ “ทวารหนัก/คอหอย” ที่จัดเก็บด้วยตนเองจากชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (self collected anorectal swab) ที่ไปรับการตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่คลินิกสุขภาพทางเพศ จำนวน 225 ราย ตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงด้วยเทคนิค PCR พบ 4 ราย ที่ให้ผลบวก 1 ราย แสดงอาการ อีก 3 ราย มีการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ คิดเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการร้อยละ 1.3 https://www.facebook.com/CMGrama/posts/pfbid0attireduRwAhXsn6Vx7WpaXbVEbKc2LU97Jz34ooFi3i26nzR22oixbdcUDXBXRHl

ดร.ดิมี โอโกอินา (Dimie Ogoina) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยไนเจอร์เดลต้า ในไนจีเรีย อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญโรคฝีดาษลิงของ WHO เห็นด้วยกับผลการวิจัยของ ดร.มิตจา ที่สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มของชายรักชายกับผลลัพธ์ของโรคฝีดาษลิง โดยให้ความเห็นว่า “นี่ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงหรือเพศสภาพอื่นไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคฝีดาษลิง แต่อาจเป็นเพราะเยื่อบุอวัยวะเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะ ‘ไม่เกิดรอยถลอก’ ระหว่างการมีกิจกรรมทางเพศ ทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกาย”

เมื่อไวรัสแพร่ระบาดโดยวิธีที่ไม่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพการระบาดลดต่ำลงอย่างมาก จากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่า มีการกลายพันธุ์เป็นไปอย่างเชื่องช้า และด้วยอัตราที่ใกล้เคียงกับไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ (clade/variant) ที่ I และ IIa ในแอฟริกา โดยมีการกลายพันธุ์เพียง 1 ตำแหน่ง บนจีโนมต่อปี ในขณะที่ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ IIb ที่ระบาดในปี 2022 นอกทวีปแอฟริกา โดยส่วนใหญ่จะพบการระบาดในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย มีอัตราการระบาดที่รวดเร็ว มีการกลายพันธุ์บนสายจีโนม 1 ตำแหน่งต่อเดือน มีอาการความรุนแรงของโรคต่ำ อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 1 (<1%) จีโนมมีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ I และ IIa มากกว่า 46 ตำแหน่ง เนื่องจากเอนไซม์มนุษย์ที่สร้างจากยีน “APOBEC3” ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไวรัสเข้ามารุกรานเซลล์โดยเอนไซม์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้จีโนม ไวรัสมีกลายพันธุ์ในลักษณะจำเพาะ (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) จนทำให้จีโนมเสียหายไม่อาจเพิ่มจำนวนไวรัสได้

ส่วนไวรัสที่เหลือรอดก็จะปรากฏเสมือนแผลเป็น (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) บนสายจีโนม พบสายพันธุ์ IIb แพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มของชายรักชายถึงร้อยละ 99

มีนักวิจัยรายงานใน The New England Journal of Medicine ประมาณการว่าเพียงร้อยละ 0.8 ของการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่พวกเขาวิเคราะห์นั้น เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดที่ไม่เกี่ยวกับเพศ และ เพียงร้อยละ 0.6 เกิดจากการสัมผัสในครอบครัว ตรงกันข้าม ร้อยละ 95 ของการติดเชื้อฝีดาษลิงในปี 2022 นอกแอฟริกาเกิดขึ้นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งรายงานในวารสาร Lancet ประมาณการว่าร้อยละ 3 ของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่พวกเขาวิเคราะห์มีการติดต่อในครอบครัวที่ไม่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออีกหลายท่าน ไม่เชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการระบาดในปัจจุบัน เพราะนั่นไม่ใช่วิธีที่ไวรัสฝีดาษลิงมีการแพร่ระบาดในประเทศแอฟริกา “ในอดีต โหมดหลักของการแพร่เชื้อของไวรัสฝีดาษลิง คือ ผ่านการสัมผัสทางผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผลสด อันเกิดจากสัตว์ข่วน กัด”

หากผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะออกมาในเร็ววันนี้ บ่งชี้ว่า โรคฝีดาษลิงมีการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย และแทบจะไม่เกิดขึ้นโดยวิธีการสัมผัส จะเป็นการท้าทายหลักเกณฑ์ด้านสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลก ที่ขณะนี้แนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงควรแยกตัวจากผู้อื่นในช่วงที่เจ็บป่วย เกิดตุ่มแผลขึ้นตามตัว ซึ่งอาจคงอยู่นานหลายสัปดาห์

นพ. เจฟฟรีย์ คลอสเนอร์ เรียกร้องให้ U.S.CDC และหน่วยงานป้องกันโรคติดเชื้อของแต่ละประเทศ ปรับเปลี่ยนการให้ความรู้แก่ประชาชนของตน โดยเน้นย้ำถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของการมีเพศสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง

“หากเรายอมรับว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีการหลักของไวรัสฝีดาษลิง 2022 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วนอกแอฟริกาอยู่ในขณะนี้ เรา (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชน) จะสามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ โดยการสื่อสารให้เกิดความตระหนักรู้ ให้กลุ่มเสี่ยงลดการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนจนกว่าจะได้รับวัคซีน” หรือ “ควรใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์”

นพ.อัลลัน-บลิทซ์ ทราบถึงบาดแผลทางสังคม (social stigma) ที่จะเกิดขึ้น หากประชาชนได้เรียนรู้ว่า โรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในหมู่เกย์ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ “โฮโมโฟเบีย/Homophobia” หรือ การเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือรักร่วมเพศ เป็นการกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เกิดการเกลียดชัง เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน เหมือนที่ได้เกิดขึ้นในอดีตกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

แต่เขากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการเก็บเงียบเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในปี 2022 นอกแอฟริกา อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินไม่ได้เช่นกัน เพราะประชาชนจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง เนื่องจากมีวิธีป้องกันตนเองที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากได้รับข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมการระบาดไม่ครบถ้วน

“ในความเงียบหรือนิ่งเฉยของเรา อาจทำเกิดอันตรายได้เช่นกัน” นพ. อัลลัน-บลิทซ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image