กทม. ระดมเจ้าหน้าที่รับฝนตกหนัก 7-10 พ.ย.นี้ หลัง จตุจักรน้ำท่วมอ่วม

วันที่ 8 พฤศจิกายน ที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหาคร (กทม.) 2 ดินแดง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมขัง ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ได้หารือถึงสถานการณ์ฝนในพื้นที่กทม.ร่วมกับนายรอยล จิตรดรอน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของผู้ว่าฯกทม. คาดการณ์ว่าจะมีฝนเข้ากทม. ค่อนข้างมากในระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน หลังจากนั้นผู้ว่าฯกทม. ได้มีบันทึกสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.สำนักการระบายน้ำ 2.สำนักการโยธา 3.สำนักการจราจรและขนส่ง 4.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5.สำนักเทศกิจ 6.สำนักการคลัง และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือจากภาวะฝนตกหนัก โดยจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตั้งแต่ เวลา 17.00 น. โดยเฉพาะในเวลา 19.00 น. ของวันนี้

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 24.00 น. ปริมาณฝนสูงสุดอยู่ที่จุดวัดสำนักงานเขตจตุจักร 100 มิลลิเมตร (มม.) จุดวัดน้ำคลองบางนา ช่วงถ.ศรีนครินทร์ และเขตบางนาอยู่ที่ 95.5 มม. ทั้งนี้ได้มีรายงานน้ำท่วมขังถนนสายหลักที่รับผิดชอบ จำนวน 9 จุด ประกอบด้วย 1.ถนนประชาราษฎร์สาย2 เขตบางซื่อ 2.ถนนงามวงศ์วาน บริเวณหน้าตลาดอมรพ้นธ์ เขตจตุจักร 3.ถนนงามวงวศ์วาน บริเวณตลาดพงษ์เพชรและชินเขต เขตจตุจักร 4.ถนนพัฒนาการ บริเวณหน้าโชว์รูมเบ้นซ์ เขตสวนหลวง 5.ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 บริเวณแยกศรีอุดม เขตประเวศ 6.ถนนสุขุมวิท บริเวณไบเทคบางนา เขตบางนา 7.ถนนศรีนครินทร์ บริเวณแยกหมู่บ้านนักกีฬา เขตสะพานสูง 8.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าราชภัฏจันเกษม เขตจตุจักร 9.ถนนสุขุมวิท บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง เขตบางนา ทั้งนี้ส่วนใหญ่สามารถระบายน้ำขังรอการระบายให้กลับสู่สภาวะปกติได้ภายในระยะเวลา 2 ชม. จุดที่ระบายน้ำได้ช้าที่สุดคือบริเวณถนนสุขุมวิท ช่วงสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง เขตบางนา น้ำท่วมขังเวลา 03.00 น. แห้งเป็นปกติเวลา 07.30 น. สูง 5-20 ซ.ม.

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า หากปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่เกิน 60 มม. กทม. มีความมั่นใจว่าสามารถดูแลประชาชนได้ แต่หากฝนตกปริมาณมากกว่านั้นต้องใช้เวลาในการระบายน้ำขังรอการระบายออกจากพื้นที่ โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชม.ถึง 2 ชม. ทั้งนี้ ผู้ว่ากทม.ได้สั่งการในที่ประชุมคณะผู้บริหาร นโยบายแรกคือให้สำนักการระบายน้ำหาวิธีบริหารจัดการน้ำหากมีฝนตก ให้ระบายน้ำขังออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดและใช้เวลาให้น้อยที่สุด นโยบายต่อมาคือ จะเร่งขยายระบบท่อและเพิ่มขนาดของท่อเพื่อให้เกิดความสมดุลกับน้ำที่จะระบาย รวมถึงจุดอ่อนน้ำขังรอการระบายในพื้นที่ 21 จุด กทม.มีแผนแก้ไขอย่างถาวร ซึ่งต้องประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาจุดอ่อนทั่ง 21 จุดให้มีจำนวนลดลง หรือไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image