ศูนย์แอคฟีด ความหวังสู้โรคอุบัติใหม่ เพื่อสุขภาพคนอาเซียน

ศูนย์แอคฟีด
ความหวังสู้โรคอุบัติใหม่
เพื่อสุขภาพคนอาเซียน

ฤกษ์ดี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ในการเปิด สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) หรือ “แอคฟีด” ที่ชั้น 15 อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก ถนนสาทร ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ

โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย“ดะโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย” เลขาธิการอาเซียน และรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศกลุ่มอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และบรูไนดารุสซาลาม และรัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา และชิลี ร่วมพิธีเปิด

ทั้งนี้ อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก และเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการ “แอคฟีด” แห่งนี้เปิดทำการเมื่อต้นปี 2564 ติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน มีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่สำหรับผู้รับบริการ ศูนย์ปฏิบัติตรวจการวิเคราะห์ ศูนย์ฉีดวัคซีน ศูนย์วิจัยและฝึกอบรม ที่พัก ห้องประชุมที่ทันสมัย เหมาะสมกับการใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการ แอคฟีด และพร้อมดำเนินการทันทีเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนบรรลุข้อตกลงการจัดตั้ง (Establishment Agreement : EA) ภายในเดือนกันยายนนี้

“อนุทิน” แจกแจงถึงที่มาของสำนักงานเลขาธิการ แอคฟีด ว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ ตลอดจนความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ประเทศทั่วโลกเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือกัน ยกระดับขีดความสามารถทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาครับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยประกาศจัดตั้งศูนย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ หรือ “แอคฟีด” ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 เมื่อปี 2563

ADVERTISMENT

ล่าสุด ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2565 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีฉันทามติให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ “แอคฟีด” ในประเทศไทย ในระยะแรกมี 3 ประเทศคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ที่รับเป็นแกนนำดำเนินการด้านการป้องกัน (Prevention) การตรวจจับ (Detection) และการตอบโต้ (Response) ตามลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นตัวอย่างในการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนเมษายน 2565

บทบาทและหน้าที่ตามข้อตกลงที่ทำขึ้นในการประชุมไตรภาคีเรื่องแอคฟีด ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 สำนักงานเลขาธิการจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศและศูนย์ทรัพยากรระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอาเซียน อนุทินอธิบายถึงความเป็นมาของ “แอคฟีด”

ADVERTISMENT

ด้าน “นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเสริมถึงการก่อตั้ง ACPHEED หรือ แอคฟีด ว่าเกิดจากในภูมิภาคอาเซียนที่มี 10 ประเทศสมาชิก มีประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน บ่อยครั้งเมื่อมีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือภัยพิบัติใดๆ ก็ยังขาดการรับมือที่ดี กระทั่งช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ประเทศสมาชิกเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมือจัดการปัญหาโรคระบาด

มองจากโรคโควิด-19 ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ ถ้าไม่ร่วมมือกันทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ ก็จะวิกฤตไปทั้งภูมิภาค ดังนั้น ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2565 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ประชุมมีฉันทามติให้มี One  ACPHEED For Asean ให้มีศูนย์เดียวในการทำงานประสานทั้งภายในประเทศ ต่างประเทศ (สมาชิก) และหน่วยงานองค์กรระหว่างประเทศ

ในที่สุดได้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ ACPHEED ที่ประเทศไทย ซึ่งเพิ่งเปิดศูนย์ไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยเพราะประเทศไทยมีความพร้อม รัฐบาลให้การสนับสนุน และไทยรับมือโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ได้ดีจนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

จริงๆ เรื่องนี้มี 3 ประเทศที่เสนอตัวคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ดังนั้น ในระยะแรกจึงมีเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย (VIT) รวม 3 ประเทศ ที่รับเป็นแกนนำดำเนินการ โดยเวียดนามรับหน้าที่ด้านการป้องกัน (Prevention) อินโดนีเซียดำเนินการตรวจจับ (Detection) และไทย ทำหน้าที่ตอบโต้และสื่อสารความเสี่ยง (Response) ตามลำดับ

“ต้องขอบคุณนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ท่านเก่งมากที่สร้างความร่วมมือ และทำให้ไทยเกิดการยอมรับในประเทศอาเซียน ท่านลงมาเล่นเอง ตั้งแต่ไปที่บาหลีและได้รับความร่วมมือ มีทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิกเอเปค รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย” นพ.โสภณเสริมถึงที่มาของศูนย์ “แอคฟีด”

นพ.โสภณ ยังระบุว่า ในอนาคตอันใกล้ศูนย์แอคฟีดนี้จะมีผู้บริหารจัดการ 1 คน แต่ยังไม่สรุปว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอะไร เลขานุการ หรือผู้อำนวยการบริหาร ส่วนบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะคัดเลือกจากประเทศสมาชิกอาเซียน แล้วค่อยหมุนเวียนกันในวาระกี่ปี เรื่องนี้ยังต้องทำข้อตกลงกัน และทุกอย่างต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของประเทศสมาชิก แต่คาดว่าผู้บริหารคนแรกอาจจะเป็นบุคลากรจากประเทศไทยเพราะเป็นที่ตั้งศูนย์แอคฟีด และมีความรู้ความเข้าใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องให้ประเทศสมาชิกเห็นชอบตามหลักการอาเซียน One ACPHEED For Asean

สำหรับภารกิจของศูนย์แอคฟีด เป็นศูนย์รวมการทำงาน บริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง จะมีการกำหนดวาระการประชุม แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ต้องมีการจัดฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง

อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยก็จัดอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนามระดับครูฝึกให้ประเทศอาเซียน ที่ จ.เชียงราย เพิ่งเสร็จสิ้นไป นอกจากนี้ ต้องพัฒนานวัตกรรม ความร่วมมือต่างๆ เช่น ตรวจหาเชื้อให้แม่นยำ มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น โรคฝีดาษวานร ที่ตรวจพบเชื้อในชาวไนจีเรีย ต่อมาผู้ป่วยรายนี้หนีไปประเทศกัมพูชา ไทยก็แจ้งเตือนไปที่กัมพูชา เขาก็เฝ้าระวังในกรุงพนมเปญและตรวจจับได้ในเวลาอันรวดเร็ว นี่คือความร่วมมือและการแจ้งเตือนในอาเซียน

“การจัดตั้งศูนย์แอคฟีดในประเทศไทยนั้นนับเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนต้องยอมรับว่า อาเซียนวันนี้มีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น มีแรงงานเดินทางข้ามไปมา เกิดเป็นประชาคมอาเซียน การที่ไทยได้เป็นศูนย์กลางจะยิ่งทำให้ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เกิดการลงทุนภายในประเทศ ทั้งโครงสร้าง การจัดการ และการจ้างงาน มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม ลดการสูญเสียในทุกมิติ” นพ.โสภณระบุถึงประโยชน์ของศูนย์ “แอคฟีด” ในประเทศไทย

เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของไทยในระดับภูมิภาคของอาเซียน ที่เป็นศูนย์กลางและพร้อมร่วมกันรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image