ส.ก.อภิปรายเห็นพ้องจัดตั้งฝ่ายระบายน้ำ 50 เขต ไฟเขียวร่างข้อบัญญัติทุนหนุนวิจัยทางการแพทย์

ส.ก.อภิปรายเห็นพ้องจัดตั้งฝ่ายระบายน้ำ 50 เขต เพิ่มประสิทธิภาพงานระบายน้ำระดับเส้นเลือดฝอย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน เวลา 10.00 น. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

-เห็นชอบร่างข้อบัญญัติทุนส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์สาธารณสุขฯ

ในที่ประชุม นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ทุนส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. … ได้รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม

Advertisement

ด้วยกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการพัฒนาทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยจึงมีความประสงค์ที่จะจัดสรรทุนส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์สาธารณสุข 3 ประเภท ได้แก่ ทุนวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ ทุนวิจัยพัฒนางานบริการและทุนวิจัยนวัตกรรม ให้แก่ข้าราชการ หรือบุคลากรกรุงเทพมหานครในสังกัดสำนักการแพทย์หรือสำนักอนามัย แพทย์ประจำบ้านหรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่ฝึกอบรมในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์เป็นหลัก โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะออกระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่าใช้จ่ายทุนส่งเสริมการวิจัย ประกอบข้อบัญญัตินี้ต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมสภากทม.ได้มีมติเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว และจะได้จัดส่งให้ฝ่ายบริหารดำเนินการต่อไป

-คกก.วิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติเงินรางวัลฯ เน้นให้ความสำคัญกลุ่มลูกจ้างกทม.ทุกประเภท

Advertisement

จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. … รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม

เนื่องจากการให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครประกาศใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ในขณะที่การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ลูกจ้างกรุงเทพมหานครได้มีการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2557 ใช้บังคับแล้ว และเนื่องจากการให้เงินรางวัลประจำปีข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานครมีวัตถุประสงค์เหมือนกัน สมควรรวมไว้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับเดียวกัน

นายสุทธิชัย กล่าวว่า การจัดสรรเงินรางวัลประจำปี ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นกำหนด ประกอบด้วย ทั้งนี้จะจัดกลุ่มข้าราชการและลูกจ้าง เป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญประเภทบริหาร ระดับต้นและระดับสูง ประเภทอำนวยการระดับต้นและระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิ ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครวิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

กลุ่มที่ 2 ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ

กลุ่มที่ 3 ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยฐานะชำนาญการ ครูและครูผู้ช่วย

กลุ่มที่ 4 ลูกจ้างกรุงเทพมหานครทุกประเภท ซึ่งเป็นกลุ่มที่คณะกรรมการวิสามัญฯให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

สำหรับเกณฑ์การจัดสรรเงินรางวัลจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข อาทิ การจัดสรรเงินรางวัลต้องคำนึงถึงผลการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณทั้งในระดับหน่วยงานและระดับบุคคล โดยจะต้องมีเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม มีกลไกให้ความเป็นธรรมในการตรวจสอบความถูกต้องของการจัดสรรเงินรางวัล และต้องคำนึงถึงระยะเวลาการปฏิบัติราชการขั้นต่ำของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล

“เชื่อว่าการออกข้อบัญญัติฉบับนี้จะสามารถสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานหนักเป็นอย่างมาก อาทิ เจ้าหน้าที่เก็บขยะและลอกท่อระบายน้ำซึ่งไม่ได้รับเงินรางวัลเลยตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ต้องการดูแลเจ้าหน้าที่กทม.ทุกคน คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและเห็นว่าในกลุ่มข้าราชการระดับสูงจะได้รับเงินรางวัลน้อยกว่าเนื่องจากมีเงินเดือนสูงและได้รับเงินค่าตำแหน่งอยู่แล้ว การให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยและลูกจ้างในอัตราที่มากกว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีกำลังใจในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนต่อไป” นายสุทธิชัย กล่าวภายหลังที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว

-ส.ก.ลาดกระบังเสนอญัตติปรับโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เขต

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก. เขตลาดกระบัง  ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขตเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้จัดโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้สำนักงานเขตมีการแบ่งส่วนราชการภายในเป็น 10 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรายได้ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายการคลัง ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ซึ่งแต่ละฝ่ายมีหน้าที่รับผิดชอบที่สอดคล้องกับสำนักต่าง ๆ ประสานการทำงานร่วมกัน จากการติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานครพบว่า การแก้ไขปัญหาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากงานระบายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายโยธา มีกำลังคนและงบประมาณไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับฝ่ายโยธามีภารกิจที่มีความหลากหลาย และมีปริมาณงานจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครเกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังสำนักงานเขตให้มีความเหมาะสมเพียงพอ โดยแบ่งส่วนราชการภายในจากกลุ่มงานระบายน้ำ ฝ่ายโยธา เป็น ฝ่ายระบายน้ำ

นายสุรจิตต์ กล่าวว่า พื้นที่ตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งเป็นแอ่งกระทะ และประชาชนในพื้นที่รับทราบปัญหาเป็นอย่างดี ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาอยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายโยธาของเขต ซึ่งมีบุคลากรจำกัด และมีภาระงานในหน้าที่หลายประเภท ในส่วนของกลุ่มงานระบายน้ำ ฝ่ายโยธา เขตลาดกระบัง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโดยตรงมีบุคลากรกว่า 40 คน แต่มีภารกิจในหน้าที่มากมาย อาทิ เก็บขยะและวัชพืชต่าง ๆ จากคูคลอง บำรุงรักษาคูคลอง ลอกท่อทำความสะอาดท่อระบายน้ำ บำรุงรักษาท่อระบายน้ำ ซ่อมแซมบำรุงรักษาถนน ตรอก ซอย และแก้ไขซ่อมแซมฝาบ่อพัก รวมถึงการมีงบประมาณที่จำกัด และครุภัณฑ์เสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“งานระบายน้ำมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน หากปรับเป็นฝ่ายระบายน้ำ จะทำให้เจ้าหน้าที่มีกรอบทำงานที่ชัดเจน การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะท่อระบายน้ำและคลองคือหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเป็นเส้นเลือดฝอยที่กทม.ต้องให้ความสำคัญ” ส.ก.ลาดกระบัง กล่าว

ด้าน นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ในปี 54 พื้นที่ดอนเมืองมีน้ำท่วม 100 % วานนี้ (6 ก.ย.65) มีฝนตกหนักมาก และพื้นที่รอบด้านก็มีน้ำสูง ทำให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณริมคลองเปรมประชากรต้องนอนชั้น 2 ของบ้าน เกือบทุกชุมชนไม่สามารถประกอบอาหารเพื่อรับประทานได้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เกินการควบคุม รวมถึงฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครได้ประสานกรมชลประทานให้ผันน้ำไปทิศทางอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน  ซึ่งต้องขอให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดการสร้างเขื่อนริมคลองเปรมประชากรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  ทั้งนี้เห็นด้วยกับการแยกงานระบายน้ำออกจากฝ่ายโยธา เนื่องจะทำให้การดำเนินการมีแผนงานที่มีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เขตที่มีลำรางจำนวนมากเช่นเขตดอนเมือง ซึ่งหวังว่าผู้บริหารจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาและปรับปรุงโครงสร้างต่อไป

นอกจากนี้ นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม พร้อมด้วย นายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง  นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ นายณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางบอน นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม และนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน ได้อภิปรายเห็นด้วย โดยเชื่อว่าการปรับโครงสร้างกลุ่มงานระบายน้ำ ให้เป็นฝ่ายระบายน้ำ รวมถึงการเพิ่มเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ระบายน้ำจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกทม. และลดปัญหาทรัพย์สินของประชาชนเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนการตรวจสอบการลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำก่อนถึงฤดูฝน การนำเครื่องมือที่ทันสมัยและนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม อาทิ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่สามารถเปิด/ปิดอัตโนมัติ จะสามารถแก้ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงฝนตกได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในที่ประชุมสภากทม.ว่า ภาพรวมปัญหาน้ำท่วม 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลายจุด ปัญหาหลักคือฝนตกรุนแรงเป็นหย่อม ๆ วานนี้ก็มีฝนตกหนักบางเขต ปริมาณฝนกว่า 170 มม. สูงสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งฝนมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ได้กระจายทั้งพื้นที่ของกทม. เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งในวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ก็พยากรณ์ว่าจะมีฝนตกหนัก 2 ช่วงเวลา แต่ยังบอกพิกัดที่ชัดเจนไม่ได้ ต้องใช้เรดาร์กทม.ในการระบุ

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเส้นเลือดใหญ่ถึงเส้นเลือดฝอย ซึ่งหมายถึงระบบท่อ คลอง ต้องขอบคุณสภากทม.ที่ให้ความสำคัญเส้นเลือดฝอย เห็นได้ว่างบประมาณที่ผ่านสภากทม.พยายามปรับเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งเรื่องการขุดลอกคูคลอง และการทำเขื่อนกั้นน้ำ ในส่วนของการจ้างกรมราชทัณฑ์ ให้ผู้ต้องขังทำงานลอกท่อระบายน้ำ พบว่าทำงานได้มีคุณภาพ แต่ยังค่อนข้างช้า ซึ่งจะเร่งรัดการทำงานให้เร็วมากขึ้น สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

“การดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ผู้บริหารได้ลงพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหา และสามารถจัดงบประมาณได้ตรงจุด ดีใจที่ส.ก.หลายท่านได้ร่วมกันลงพื้นที่ ลุยช่วยเหลือประชาชนและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ การแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องบูรณาการหลายภาคส่วน เพราะมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร และทุกส่วนต้องร่วมกันทำงาน ทั้งนี้ ขอน้อมรับทุกคำแนะนำและจะนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น การเน้นเส้นเลือดฝอยให้สัมพันธ์เส้นเลือดใหญ่ขณะนี้ถือว่าเราได้ทำมาถูกทางแล้ว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image