ส.ก.ทุ่งครุ ชี้ 5 เขต ‘ไม่มี รพ.รัฐ’ เสนอ กทม.สร้างครอบคลุม เจอเสียงเห็นต่าง ไม่ต้องครบ 50 เขต ‘ทวิดา’ ลุกแจง

กิตติพงษ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ

ส.ก.ทุ่งครุ เปิดชื่อ 5 เขต ‘ไม่มี รพ.รัฐ’ เสนอ กทม.สร้างครอบคลุม ‘ทวิดา’ แจงหาพื้นที่เหมาะสม-จัดแซนด์บอกซ์เร่งช่วยทันท่วงที

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ในตอนหนึ่ง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณและการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการที่ขอกันเงินเหลื่อมปี เป็นโครงการที่มีความจำเป็น หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการ ทั้งนี้ จะสามารถกันเงินได้ไม่เกินหนึ่งปีงบประมาณ  โดยที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติฯ จำนวน 21 ท่าน โดยเป็นฝ่ายสภา กทม. 15 ท่าน และฝ่ายบริหาร 6 ท่าน

สำหรับในญัตตินี้ นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม ได้อภิปรายเกี่ยวกับโครงการ Mobile Stroke Unit ของโรงพยาบาลสิรินธร ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม พบว่าโรงพยาบาลสิรินธรยังไม่มีห้อง Stroke Unit ในโรงพยาบาลแต่อย่างใด จึงเห็นควรให้เพิ่ม Stroke Unit ในโรงพยาบาลสิรินธรด้วย

Advertisement
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การมี Stroke Unit ในโรงพยาบาลเป็นเรื่องจำเป็น แต่การมี Mobile Stroke Unit จะช่วยให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด เช่น กรุงเทพมหานคร รวมถึง นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวเสริมว่า การวางแผนโครงการ Mobile Stroke Unit เป็นการให้บริการที่ต้องครอบคลุมทั่วทั้ง กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลน การเข้าถึงผู้ป่วยทำได้ยากมีหลายพื้นที่ ต้องวินิจฉัยให้เร็วภายใน 2 ชม. ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสาธารณสุขแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีโรงพยาบาลที่มี Stroke Unit จำนวน 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ดูแลพื้นที่ฝั่งตะวันออก โรงพยาบาลศิริราช ดูแลพื้นที่ฝั่งธน และโรงพยาบาลประสาท ดูแลพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งนี้ กทม.ได้ร่วมเป็นเครือข่าย โดยเพิ่มรถ Mobile Stroke Unit เพื่อให้การดูแลในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น รวมทั้งได้จัดให้มี Feeder จากศูนย์เอราวัณ เพื่อรับผู้ป่วยเข้าสู่สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาพยาบาลต่อไป

นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ ได้เสนอญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสร้างโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร โดยเปิดบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงคนต่างด้าว ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยจำนวนมาก โรงพยาบาลที่มีอยู่มีความแออัดของผู้ป่วย และไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมากได้ การเข้ารับบริการของประชาชนต้องใช้เวลานาน

Advertisement

อีกทั้งในหลายพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลของภาครัฐ ทำให้ประชาชนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตพระโขนง ยานนาวา ตลิ่งชัน บางกอกใหญ่ และทุ่งครุ ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วย ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วจนอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิต หากมีการขยายโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้ ดังนั้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครยกระดับด้านการแพทย์ การสาธารณสุข ประชาชนเข้าถึงการบริการได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรมจึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสร้างโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“สาธารณสุขเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชน และเป็นหน้าที่สำคัญของกรุงเทพมหานครที่จะต้องดูแลชีวิตของประชาชน ทั้งประชาชนที่อาศัยใน กทม.และผู้ที่เป็นประชากรแฝง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 5 เขตของ กทม.ที่ไม่มีทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน พระโขนง ยานนาวา ตลิ่งชัน บางกอกใหญ่ ทุ่งครุ” ส.ก.ทุ่งครุกล่าว

ในส่วนประเด็นความพร้อมของการรองรับผู้ป่วยให้ครอบคลุม ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง ประกอบด้วย นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง ยังได้กล่าวเสริม ขอให้ฝ่ายบริหารดูแลสภาพความเป็นอยู่ของบุคลากรศูนย์บริการสาธารณสุขด้วย เนื่องจากเป็นด่านหน้าที่ต้องดูแลประชาชนและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก ศูนย์หลายแห่งมีสภาพอาคารทรุดโทรมและมีอุปกรณ์ไม่ทันสมัย

นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ประชาชนควรมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลทุกคน การรักษาพยาบาลโดยแพทย์และอุปกรณ์ที่มีความพร้อมถือเป็นหน้าที่ของ กทม. ทั้งการดูแลความพร้อมในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าศูนย์บริการสาธารณสุขหลายแห่งมีศักยภาพเพียงพอ คือ มีตัวอาคารกว้างขวาง สามารถพิจารณาปรับให้เป็นโรงพยาบาลหรือมีเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ และ นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ และ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน มีความเห็นร่วมกันว่า คนกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนกรุงเทพมหานครที่มีทะเบียนบ้าน กลุ่มประชากรแฝง และกลุ่มแรงงานต่างด้าว การมีโรงพยาบาลให้ครอบคลุม ไม่ใช่การมีโรงพยาบาลให้ครบ 50 เขต แต่หมายถึงการมีโรงพยาบาลที่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยชาวไทยและผู้ป่วยที่เป็นต่างชาติซึ่งปัจจุบันพบว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่าชาวไทย

รองผู้ว่าฯทวิดา ชี้แจงที่ประชุมสภา กทม. ว่าสำหรับนโยบายการขยายโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานพยาบาลอยู่นั้น กทม.ได้พยายามศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสม การเดินทางที่สะดวกสำหรับประชาชน ทางด้านโซนเหนือยังไม่พบพื้นที่ที่เหมาะสม แต่ได้ปรับโรงพยาบาลอื่นให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น และใช้เครือข่ายสถานพยาบาลทุกสังกัด บริหารจัดการเป็น Sand Box ได้แก่ ดุสิตโมเดล กับราชพิพัฒน์ โดยเป็นการรวมระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านการรักษาด้วยระบบ Telemedicine ทำให้เตียงตามบ้านเรือนสามารถดูแลผู้ป่วยได้เหมือนโรงพยาบาล รวมถึงการขยายศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขหรือ ศบส.Plus เพื่อรับผู้ป่วยฉุกเฉินพักค้าง 24 ชั่วโมง สำหรับการดูแลประชากรแฝง ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้เลือกในการดูแลผู้ป่วย เราดูแลผู้ป่วยทุกคน และได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยบัตรทองซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image