ช่วยคนตกน้ำให้”ตะโกน โยน ยื่น” สบส.เตือน ขึ้นมาแล้วอย่าอุ้มพาดบ่า ชี้ทำให้ตายเร็วขึ้น

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เทศกาลลอยกระทงปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน มีความเป็นห่วงอุบัติเหตุจมน้ำ ซึ่งพบได้เกือบทุกปี สาเหตุที่พบได้บ่อยเช่นเมาสุรา รวมทั้งการลงไปเก็บเงินที่อยู่ในกระทง ซึ่งมักจะเป็นเด็กๆ สบส.ได้ดำเนินการสำรวจความเชื่อของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯปริมณฑลและ 4 ภาค ในด้านการช่วยเหลือคนจมน้ำ ในเดือนตุลาคม จำนวน 501 ตัวอย่าง ผลพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิด โดยเชื่อว่า ช่วยโดยการจับอุ้มพาดบ่าแล้วกระทุ้งท้อง มากถึงร้อยละ 62 ภาคที่มีความเชื่อวิธีการนี้อันดับ 1 ได้แก่ ภาคเหนือ ร้อยละ 74 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 71 ภาคกลางร้อยละ 61 ภาคใต้ร้อยละ 54 ส่วน กทม.และปริมณฑล ร้อยละ 50 ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความเชื่อที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น ซึ่งดีขึ้นกว่าผลการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2556 ที่พบว่าประชาชนเข้าใจถูกต้องเพียงร้อยละ 7.4

“การช่วยคนจมน้ำหลังจากที่นำขึ้นมาจากน้ำ โดยการจับอุ้มพาดบ่าและกระทุ้งท้องเพื่อเอาน้ำออกจากปอดนั้น เป็นวิธีการต้องห้าม และเป็นอันตรายกับผู้ที่จมน้ำ เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำจากกระเพาะอาหารไม่ใช่ออกมาจากปอด ผลที่ตามมาจะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น สมองขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตสูง วิธีการช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้องเบื้องต้น คือให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งช่วยคนที่จมน้ำโดยให้วางนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก ช่วยให้หายใจให้เร็วที่สุดโดยวิธีการผายปอดและเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายครั้ง ถ้าหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอกให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอกความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที และรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 โดยเร็วที่สุด”นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า สำหรับหน่วยงานที่จัดเตรียมสถานที่ให้ประชาชนลอยกระทงในปีนี้ ควรกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน และต้องทำสิ่งกั้นขวาง เพื่อป้องกันการตกน้ำ จัดให้มีผู้ดูแลและเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำให้พร้อมเช่นห่วงชูชีพ ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ยางในรถยนต์ที่เติมลมไว้พร้อม เขียนป้ายบอกวิธีการใช้ให้ถูกต้อง หากเกิดเหตุการณ์ สามารถหยิบมาใช้ได้ง่าย ส่วนผู้ที่ให้บริการทางเรือ ควรจัดเสื้อชูชีพให้พร้อม และคำนึงถึงการบรรทุกผู้โดยสารไม่ให้น้ำหนักเกิน ในกรณีพบคนตกน้ำต้องรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน การช่วยเหลือที่ถูกวิธีขอให้ยึดหลัก ตะโกน โยน ยื่น โดยเรียกให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นมาช่วยหรือหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมาช่วยเหลือเช่น ไม้ ถังแกลลอนเปล่า เชือกหรือสิ่งที่เกาะยึดเหนี่ยวได้ ในส่วนของผู้ปกครองที่นำบุตรหลานไปลอยกระทงด้วย ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปีต้องอยู่ในระยะที่คว้าถึง อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง ไม่ว่าจะเป็นในกะละมังหรือถังน้ำที่บ้านก็ตาม อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image