ชัชชาติ-สนั่น นั่งหัวโต๊ะประชุม กรอ.กทม.นัดแรก ผู้ว่าฯชี้ต้องปรับตัวให้ทันเอกชน ดันกรุงเทพฯศูนย์กลางเศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 30 กันยายน ที่ห้องประชุมนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นการประชุมหนแรกของ กรอ.กทม. ประกอบไปด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งแต่ละสมาคมยื่นข้อเสนอ กล่าวคือ หอการค้าไทยฯ เสนอปรับใบอนุญาตก่อสร้างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะได้ไม่ต้องเสียเวลายื่นเอกสาร รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้รวดเร็วและตอบโจทย์, การทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง การยกระดับสตรีทฟู้ด สร้างระบบนิเวศให้เหมาะสม เพื่อรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดี

ด้าน สอท.เสนอการบริหารจัดการขยะ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ ซึ่งได้มีความร่วมมือในการแยกขยะ, การฟื้นฟูคลองต้นแบบ ที่คลองหัวลำโพง ซึ่งทาง สอท.ส่งทีมงานมาร่วมกับ กทม.แล้ว, การออกมาตรการความปลอดภัยร้านอาหาร พร้อมกับออกใบรับรองให้กับร้านอาหาร ด้านสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาใช้ โดยให้ กทม.นำมาใช้การชำระเงินต่างๆ, การให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ, สนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นผู้นำร่องเชื่อมโยงการชำระเงินกับภูมิภาคต่างๆ ซึ่งหลายประเทศมีการชำระเงินผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ซึ่งข้อเสนอทั้ง 9 ข้อ ทาง กทม.จะรับไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

“ในอนาคตอยากให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง เริ่มจาก Tourism, Health and Wellness Center, การเป็นศูนย์กลางของบริษัทข้ามชาติ, เป็นศูนย์กลางการทำอัญมณี, การจัดประชุม หรือธุรกิจ MICE เป็นสิ่งที่ กทม.ร่วมผลักดันอยากให้มีธุรกิจ ที่มีคุณภาพอยู่ในเมือง เพราะเป็นสิ่งที่สร้างงาน สร้างรายได้ แล้วจะมาหมุนเวียน ทำให้เมืองมีคุณภาพดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการตั้งคณะอนุทำงาน เน้น 3 เรื่องก่อน คือ Tourism, Health and Wellness Center, การเป็นศูนย์กลางของบริษัทข้ามชาติ เพราะจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดการแข่งขันกับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค

“ต้องขอขอบคุณที่ทั้ง 3 สมาคมที่ทำงานอย่างรวดเร็ว ราชการก็ต้องปรับตัวให้ตามทันเอกชน ให้มีความทัดเทียม ซึ่งจะมีการประชุมคณะทำงานย่อย เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครนั้นเป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ หอการค้าฯจึงสนับสนุนและต้องการผลักดันให้เป็น Smart City โดยเร็ว พร้อมกับสร้างเสริมให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัย โดยจะต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ เพื่อการพัฒนาดังกล่าว ดังนั้น จึงได้นำเสนอประเด็นในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ได้แก่

1) การปรับรูปแบบการขออนุญาตก่อสร้างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์

2) การทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

3) การยกระดับ Street Food โดยการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะกับการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs

โดยในประเด็นแรก หอการค้าฯมองว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการและประชาชน สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับขั้นตอนการติดต่อราชการ รวมทั้งต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาต ในขณะที่หน่วยงานรัฐเองก็มีเอกสารต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน จึงเสนอว่า โครงการก่อสร้างที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และกรุงเทพมหานคร มีอำนาจอนุมัตินั้น กรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรเพิ่มจำนวนที่ปรึกษา สำหรับจัดทำรายงานประเมินให้เพียงพอความต้องการ โดยเฉพาะที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในบางสาขาที่ยังมีจำนวนน้อย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการรอคิว และจะส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายที่อาจจะลดลงในการจัดทำเอกสาร รวมทั้งการอนุมัติโครงการต่างๆ จะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนโครงการที่ไม่ต้องประเมิน EIA ก็ขอให้นำระบบการขออนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ โดยสามารถแนบเอกสาร และไม่ต้องนำเอกสารฉบับจริงไปแสดง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครรับข้อเสนอของหอการค้าฯไปดำเนินการ พร้อมชี้แจงว่ากำลังดำเนินการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้าง ที่จัดทำเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคมนี้ ส่วนเรื่องจำนวนที่ปรึกษา ทาง กทม.รับไปหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ประเด็นที่สอง เป็นการเสนอให้มีการทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขอให้มีการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อผลักดันการกำหนดราคากลางที่สะท้อนต้นทุนความเป็นจริงของภาคธุรกิจ และความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากที่ผ่านมา ราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างไม่เท่ากับราคาตลาด ทำให้กระทบต่อหลายโครงการ ทำให้ผู้รับเหมาบางรายทิ้งงาน โดยทาง กทม.ยินดีรับเป็นตัวกลางหารือระหว่างภาคเอกชนกับกรมบัญชีกลางในเรื่องนี้

ประเด็นสุดท้าย ข้อเสนอของหอการค้าฯในเรื่องการยกระดับ Street Food นั้น เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบาย 9 ดี ของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการยกระดับ รวมทั้งสร้างมาตรฐาน Street Food ไปพร้อมกับการจัดระเบียบ แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง หอการค้าฯและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) พร้อมสนับสนุนและร่วมมือในการนำ Digital Transformation มาใช้ พร้อมกับยกระดับมาตรฐานและความสะอาดให้ Street Food ของ กทม. ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะดึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ มาเป็นจุดขาย และสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป

“การหารือเพื่อติดตามในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า จากการที่ท่านผู้ว่าฯมาพบภาคเอกชนหลังได้รับตำแหน่งนั้น ข้อเสนอแต่ละเรื่องที่เสนอไปครั้งที่แล้ว ได้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน และได้มีการกระจายงานไปยังทีมงานเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื่อว่าการทำงานแบบนี้จะคล่องตัวและสามารถทำให้ประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ กทม.สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสนั่นกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image