สภาหอการค้าฯไม่หนุนขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วปท. ย้ำปรับเงินต้องดูฝีมือแรงงาน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน  ที่กระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน  แถลงข่าวภายหลังหารือร่วมกับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จากการที่คณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 เพิ่มอีก 5-10 บาท ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ค่าจ้างคงเดิม 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด  กลุ่มที่ปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน จำนวน 7 จังหวัด กลุ่มที่ปรับขึ้น 8 บาทต่อวันจำนวน 13 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน  โดยทั้งหมดกระทรวงแรงงานคิดอย่างรอบคอบด้วยปัจจัยชี้วัดต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ และล่าสุดเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯ เห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้เป็นไปอย่างเหมาะสม  โดยสภาฯ สนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่สมเหตุสมผล และปรับตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน  รวมทั้งสนับสนุนสถานประกอบการต่างๆ ควรมีโครงสร้างเงินเดือนหรือกระบอกเงินเดือนของตนเอง แทนที่ต้องมาปรับค่าจ้าขั้นต่ำทุกปี   เพราะเมื่อครั้งปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัด ถือว่าได้รับผลกระทบมาก

“การปรับค่าจ้างครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบ เนื่องจากพิจารณาแล้วเป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5-10 บาท หรือประมาณกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราที่สถานประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งแตกต่างจากสมัยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ นอกจากนี้ อยากให้มีการแยกค่าจ้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษออกมา ซึ่งได้มีการเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว” นายพจน์ กล่าว

ม.ล.ปุณฑริก  ยังกล่าวถึงผลการประชุมอื่นๆ ว่า ที่ประชุดยังพิจารณาเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างกรณีจ่ายเงินสมทบ โดยการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมผ่านระบบอี-เพย์เม้นท์(E-Payment) เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและสถานประกอบการ โดยนายจ้างสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์ “www.sso.go.th” และแจ้งหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ของนายจ้างเพื่อชำระเงินสมทบ นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน การแจ้งเข้าทำงาน แจ้งลาออก โดยเป็นการอำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 4 กลุ่ม กลุ่มแรก ซึ่งไม่ขึ้นค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี,ชุมพร,นครศรีธรรมราช, ตรัง, ระนอง, นราธิวาส,ปัตตานี และยะลา กลุ่มที่ 2 ขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน, ลำปาง,น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, พัทลุง,สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี,สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์,อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว,ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา,สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง,เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร, เชียงราย, พิษณุโลก,อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีษะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย

กลุ่มที่ 3 ขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง,สุราษฎร์ธานี, สงขลา. เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และอยุธยา ส่วนกลุ่มที่ 4 ขึ้น10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และภูเก็ต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image