วอน สปส.! ช่วยผู้ประกันตนบำนาญชราภาพ เข้าสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมตามเดิม

ตามที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ลาออกจากสถานประกอบการ แต่ต้องการคงสิทธิประกันสังคมไว้ จึงจ่ายเงินสมทบเพื่อคงสภาพสิทธิประโยชน์ต่างๆ ประสบปัญหาหลุดจากระบบ เนื่องจากลืมจ่ายเงินสมทบเป็นหลัก โดยพบประมาณ 930,000 คน ซึ่งล่าสุด สปส.เตรียมดึงเข้าสู่ระบบอีกครั้งด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย คาดแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือนนั้น

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ สปส.เห็นความสำคัญของผู้ประกันตนในทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้จะมีการพูดคุยกับเครือข่ายผู้ประกันตน และจะทำข้อเสนอสรุปเพื่อขอเข้าพบกับเลขาธิการประกันสังคม ในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน อาทิ กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งจ่ายเงินสมทบตามปกติจนกระทั่งครบอายุ 55 ปี เข้าสู่กรณีรับเงินบำนาญชราภาพนั้น โดยปกติจะถูกโอนสิทธิรักษาพยาบาลเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) แต่จากการหารือผู้ประกันตนหลายคนต้องการรับสิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมตามเดิม จึงอยากเรียกร้องให้ สปส.ให้สิทธิรักษาพยาบาลกับผู้ประกันตนที่รับเงินบำนาญชราภาพด้วย

“นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 มีความต้องการได้รับสิทธิเหมือนผู้ประกันตนมาตรา 33 อย่างกรณีบำนาญชราภาพ เป็นไปได้หรือไม่ที่การจ่ายเงินบำนาญชราภาพ จะคำนวณฐานจากเงินเดือนเดิม เพื่อนำมาคำนวณเป็นเงินบำนาญชราภาพได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็จะขอหารือร่วมกับเลขาธิการ สปส.ต่อไป” นายมนัสกล่าว

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากการประชุมกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาปัญหาการสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวนประมาณ 930,000 คน และมีมติให้ สปส.แก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระยะสั้น โดยดำเนินการคืนความเป็นผู้ประกันตนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพด้วยความละเอียดรอบคอบ และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ขณะเดียวกันสำนักงานฯ จะแก้ไขปัญหาการขาดส่งเงินสมทบโดยเพิ่มช่องทางการเตือนผ่านระบบข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวจะได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงเงื่อนไข หลักเกณฑ์การจัดเก็บเงินสมทบและการจ่ายประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนมาตรา 39 อย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

นพ.สุรเดชกล่าวว่า เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินสมทบนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถชำระเงินสมทบผ่านทางเคาน์เตอร์ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือชำระเงินโดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะหักเงินในบัญชีทุกวันที่ 15 ของเดือน หรือชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส/เคาน์เตอร์ที่ทำการไปรษณีย์ ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบใบเสร็จและเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานด้วย และผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถตรวจสอบเงินสมทบได้ทางแอพพลิเคชั่น My SSO

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image