นักวิชาการชี้ ปัญหา’ยาปฏิชีวนะ’ไม่ลด!! ห่วงช่องว่างใช้ยาใน’รพ.เอกชน’

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงการรณรงค์ “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย” ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2559 ว่า ประเทศไทยได้มีการรณรงค์เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลกันมานาน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เนื่องจากว่าหากมีการใช้ไม่สมเหตุผล ใช้มากเกินไป ใช้ไม่ตรงโรค ก็จะก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายในการจัดการกับเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ผู้ปฏิบัติงานมีความตื่นตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เชื้อดื้อยาก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ ดังนั้นอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งโรงพยาบาลเอกชน ประชาชน ร้านขายยา โดยเฉพาะร้านขายของชำ ซึ่งจะพบว่ายังมีการขายที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะอยู่ ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ก็ต้องมีความเข้มงวดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคเกษตร การเลี้ยงสัตว์ด้วย เพราะมีการศึกษาวิจัยต่างประเทศพบว่ายาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และอาจมีความเชื่อมโยงว่าจะปนเปื้อนมากับอาหารด้วย

“เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลของรัฐนั้นตอนนี้มีความตื่นตัวกันมาก ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองก็มีการตั้งเป้าว่าหากโรงพยาบาลใดสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้น้อยเป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะมีการจัดสรรงบเพิ่มเติม แต่ตอนนี้สนใจที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะเป้าของเขา คือ ผู้ที่เข้ามารักษาต้องหาย ดังนั้นจึงพบการจ่ายยาปฏิชีวนะจำนวนมาก ตรงนี้เป็นช่องว่างของการควบคุมเรื่องการใช้ยา แต่ก็เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายๆ แห่งมีความพยายามปรับปรุง” ผศ.ภญ.นิยดากล่าว และว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้มีการแก้ไขเรื่องยาปฏิชีวนะสูตรไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงยาอมแก้ไอนั้น ตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว

พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวถึงการใช้ยารักษาอาการไข้หวัด ว่า อยากขอให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ยามารับประทานเอง โดยหากป่วยเป็นหวัดเพียงเล็กน้อย โดยส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหาซื้อยาสามัญ เช่น ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แต่อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง เพราะขนาดแพทย์สั่งยังต้องระมัดระวังเพราะอาจเกิดความผิดพลาดในการสั่งยาได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ไข้หวัด รวมไปถึงอาการป่วยอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เป็นประธาน โดยมีการดำเนินการควบคุมการใช้ยาทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้มีการโยงไปถึงการใช้ยาในสัตว์ด้วย เนื่องจากการใช้ยาอาจทำให้ตัวยาหลงเหลือในเนื้อสัตว์ นำไปสู่การปนเปื้อนและอันตรายต่อคนในการซื้อมารับประทาน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image