‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพิกถอนแผน PDP 2015 และโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ

แฟ้มภาพ

วันที่  17  พฤศจิกายน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายชาวบ้านจะยื่นฟ้องเพิกถอนแผน PDP 2015 และโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กทม.ในเวลา 11.00 น. วันนี้  หลังจากรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ  มีนโยบายที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.)  ดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาไฟฟ้า หรือ PDP 2015 นั้น แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวอาจส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่จะต้องถูกปนเปื้อน และจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบพื้นที่เป็นจำนวนมาก

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการกระทำที่ไม่จำเป็นต่อภาวะของประเทศในขณะนี้ และเป็นการใช้งบประมาณของประเทศโดยไม่จำเป็นอันเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายสร้างภาระให้ประชาชนและประเทศชาติเกินควรโดยไม่จำเป็น โดยที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพบว่าการก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายพื้นที่นั้น มีต้นเหตุเกิดจากการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย  2559 -2579

“เมื่อศึกษารายละเอียดในแผน PDP  2015 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พยากรณ์ไว้กับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2015  ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2555 –2573  หรือ PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่  3  ซึ่งแผน PDP 2015 มีการกำหนดให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ ลดน้อยลงจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่กำหนดไว้ตามแผน PDP 2010 Rev.3 ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก แต่จำนวนปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศยังมีเท่าเดิม จะทำให้ ปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 21 ถึง 35 ของความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเกินกว่าความจำเป็นไปมาก

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ดังนั้นการทำแผน PDP2015 ที่ถูกต้อง คือ ควรต้องพยายามปรับลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้า กล่าวคือ ยกเลิกโรงไฟฟ้าในอนาคตที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใด ๆ หรืออย่างน้อยจะต้องพยายามเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงของประเทศแต่ปรากฏว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกลับได้ร่วมกันจัดทำแผน PDP 2015 ไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ มีการเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีความจำเป็นให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้น จากที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2010 Rev.3 จนเป็นผลให้ในช่วงปี 2559 – 2569 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 30  ถึง39 ของความต้องการใช้ไฟฟ้า เป็นเหตุให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนต้องมีภาระในการร่วมจ่ายเงินให้กับค่าสำรองไฟฟ้าดังกล่าวอย่างไม่เป็นธรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image