แน่นโถงหอประชุมมธ. ทำหมันประชากรแมวเฉียด 300 ผู้ช่วยอธิการฯ คุมหน้างาน

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมกับมูลนิธิรักษ์แมว จัดโครงการทำหมันแมว-สุนัข ฟรี ที่บริเวณโถงหอประชุมใหญ่ (อ่านข่าว ‘มธ.ท่าพระจันทร์’ เกณฑ์บุคลากรทาสแมว จับน้องทำหมัน หวั่นปัญหาระยะยาว ยัน ‘เหมียวคือครอบครัว’)

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 09.00 น. มีประชาชนทั่วไปที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้านำแมวและสุนัขมาทำหมันเป็นจำนวนมาก

เวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยทำการจับแมวที่อยู่บริเวณคณะรัฐศาสตร์ เพื่อพาไปรับบริการทำหมัน โดยส่วนหนึ่งมีการจับแมวใส่กรงเพื่อเตรียมพร้อมตั้งแต่บ่ายวานนี้

Advertisement

เวลา 10.15 น. ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เปิดเผยว่า วันนี้ผลตอบรับค่อนข้างดี ในตอนแรกเราจะทำหมันให้แค่แมวจรภายในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว เมื่อเราประสานกับมูลนิธิรักษ์แมวก็พบว่ามีทีมจิตอาสาและทีมแพทย์ จึงสามารถรับแมวเพิ่มได้ เฉพาะแมวในมหาวิทยาลัยและแมวของประชาชนทั่วไปที่เป็นแมวเลี้ยงและแมวจรมีประมาณ 194 ตัว ซึ่งทางมูลนิธิรักษ์แมวเปิดรับด้วย จำนวนอยู่ที่ 289 ตัว ในส่วนของลูกแมวที่เกิดจากแมวจรภายในมหาวิทยาลัยแล้วมีผู้สนใจนำไปเลี้ยง เราอยากได้คนที่รักแมว โดยเราจะมีช่องทางติดต่อเพื่อให้มาดูแมวตัวจริงก่อนได้ว่าถูกชะตากันหรือไม่ จริงๆ อยากได้คนที่รักแมวเพราะสัตว์เลี้ยงจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี และในบางครั้งแมวจรก็เกิดจากการที่เราเจอแมวน่ารักจึงเอาไปเลี้ยง เมื่อโตมาแล้วไม่น่ารักก็ปล่อย หรือไม่ได้ทำหมันให้เมื่อคลอดลูกออกมาจำนวนมากก็เลี้ยงไม่ไหว

ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์

เมื่อถามว่า เมื่อให้คนรับไปเลี้ยงแล้วมีการติดตามความคืบหน้าของแมวหรือไม่ ผศ.ดร.อดิพลกล่าวว่า เรามีทีมอาสาสมัครคนรักแมวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีการติดตามอยู่แต่อาจจะไม่ครบทุกตัว เราก็พยายามที่จะคัดเลือกคนที่จะมารับไป เราอยากจะเจอตัวจริง มีการพูดคุยกันก่อน แมวที่จะรับไปไม่ได้มีแค่แมวเด็กอย่างเดียว ถ้าใครอยากรับแมวโตไปเลี้ยงก็สามารถทำได้หากมาเจอแล้วถูกใจ ลองมาจ้องตากันก่อนได้

Advertisement

ผศ.ดร.อดิพลกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า หากทางกรุงเทพมหานคร หาก กทม.สามารถช่วยเหลือในส่วนของการทำหมันแมวและสุนัขฟรีจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะการทำหมันมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยจะทำให้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรแมวจรลดน้อยลง ซึ่งเบื้องต้นโครงการในวันนี้ทาง กทม.ได้สนับสนุนกรงแมวและให้คำปรึกษาเรื่องการจับแมว

ด้าน นายชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช เจ้าหน้าที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวว่า ในส่วนของแมวเด็กเมื่อเราฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วเราจะหาบ้านให้เขาต่อด้วยการถ่ายภาพลงเพจ Thammasat University Library ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนมาก และจะมีไลน์ออฟฟิเชียลเพื่อกรอกข้อมูลก่อนจะมารับน้องแมวไป โดยข้อมูลจะเกี่ยวกับ
1.ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร
2.สนใจน้องตัวไหน ระบุ no.
3.เลี้ยงแมวระบบปิดได้ไหม (ระบบปิดคือเลี้ยงภายในบ้าน/ที่พักอาศัย ไม่ปล่อยออกไปเดินข้างนอก)
4.ที่พักอาศัย อนุญาตให้เลี้ยงแมวได้
5.พาน้องไปทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ ทำหมัน เมื่อถึงเวลาอันสมควรได้
6.สามารถมารับน้องแมวได้ที่ มธ. ท่าพระจันทร์

ชัยสิทธิ์ อังคปัญญาเดช

นอกจากนี้ ทางทีมอาสาสมัครจะมีการคัดกรอง โดยส่วนใหญ่จะดูจากพื้นที่ในการเลี้ยงว่าสามารถเลี้ยงได้และมีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากเราเคยเจอกรณีที่มีนักศึกษารับไปเลี้ยงแต่ที่บ้านไม่สะดวกจึงต้องนำมาคืน และทางเรามีการติดตามการเลี้ยงตลอด 7 วัน, 14 วัน และ 1 เดือน ดูว่าสามารถเลี้ยงได้หรือไม่

ลำใย แมวตัวผู้ ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ หลังได้รับการทำหมัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image