ชัชชาติ ขึ้นบันไดสวรรค์วัดสระเกศ ร่วมห่มผ้าภูเขาทอง เอ่ยเลข 344 ยันไม่ได้ใบ้หวย

ชัชชาติขึ้นบันไดสวรรค์วัดสระเกศฯร่วมงานห่มผ้าภูเขาทอง รวม 344 ขั้น ยันไม่ได้ใบ้หวย คุยเจ้าอาวาส กทม.ร่วมงานวัดภูเขาทองด้วยปีหน้า

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน เวลา 06.35 น. ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เดินทางไปร่วมงานห่มผ้าภูเขาทอง พร้อมด้วย นายพงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ในตอนหนึ่ง นายชัชชาติสอบถามว่า บันไดมีกี่ขั้น ได้คำตอบจากบุคคลในงานว่า 344 ขั้น

จากนั้นนายชัชชาติได้เข้ากราบนมัสการพระธรรมโพธิมงคล (สมควร ปิยสีโล ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ

Advertisement

ต่อมานายชัชชาติได้เดินขึ้นบันไดพร้อมเจ้าอาวาสและคณะ และชี้จำนวนขั้นบันได “344 Steps” ที่ปรากฏข้อความบริเวณทางขึ้น พร้อมกล่าวว่า “344 มันอยู่ทุกงวด ไม่ได้ใบ้หวย”

จากนั้นนายชัชชาติได้เดินขึ้นไปยังจุดที่มีระฆังและฆ้องสีทองขนาดใหญ่ และได้เคาะไป 1 ครั้ง และไล่เคาะระฆังตลอดทางก่อนเดินเท้าต่อไป

ต่อมานายชัชชาติถามเจ้าอาวาสว่างานภูเขาทองจัดกี่วัน เจ้าอาวาสกล่าวว่า ไม่ได้จัด เป็นการบวงสรวงเฉยๆ แต่จะจัดในปีหน้า นายชัชชาติจึงกล่าวต่อว่า ในปีหน้า กทม.จะมาร่วมด้วย

Advertisement

จากนั้นนายชัชชาติได้ขึ้นไปยังยอดสูงสุดที่พระบรมบรรพตภูเขาทองและดำเนินพิธีบวงสรวง

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ภูเขาทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยทรงมีพระราชดำริให้เป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่อย่างภูเขาทองที่อยุธยา แต่เนื่องด้วยชั้นดินอ่อนตัว รับน้ำหนักจำนวนมหาศาลของพระปรางค์ไม่ได้ กระทั่งทรุดลง จึงหยุดก่อสร้างค้างอยู่เพียงฐาน ถูกปล่อยให้รกร้าง กลายเป็นกองอิฐขนาดใหญ่นอกกำแพงพระนคร

ตำแหน่งที่ตั้งของภูเขาทองนั้น นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของพระนคร เพราะตั้งอยู่ริมคลองมหานาคเชื่อมต่อกับคลองรอบกรุงและคลองหลอด (คลองหลอดวัดราชนัดดาฯ) และอยู่เยื้องกับป้อมมหากาฬ เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริถึงภูเขาทองว่า หากข้าศึกศัตรูเข้ายึดภูเขาทองได้ อาจนำปืนไปตั้งบนภูเขาทอง แล้วยิงเข้าสู่พระนคร ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง

ดังนั้น ด้วยเหตุที่ภูเขาทองเป็นกองอิฐใหญ่รกร้างนี้เอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการก่อสร้างคลองผดุงกรุงเกษมให้เป็นแนวป้องกันพระนครอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกศัตรูเข้ายึดภูเขาทอง

นอกจากนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์อธิบายไว้ว่า สมัยรัชกาลที่ 4 ประชาชนออกไปตั้งบ้านเรือนนอกกำแพงพระนครกันมากขึ้น ตัวเมืองก็ขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น รัชกาลที่ 4 จึงทรงหวังพระทัยว่า การก่อสร้างคลองผดุงกรุงเกษมจะช่วยป้องกันข้าศึกศัตรู

ภูเขาทองยังถูกปล่อยให้รกร้างต่อไประยะหนึ่ง จวบถึงช่วงปลายรัชกาล รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างภูเขาทองขึ้นอีกครั้ง โปรดให้ก่อเป็นภูเขาขนาดใหญ่ แล้วสร้างพระเจดีย์ไว้ด้านบน ดำเนินการวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2408 พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต” แต่มาก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image