ชัชชาติ ถกนานกว่า 2 ชม. ย้าย กทม.เสาชิงช้า มาดินแดง ยันไม่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์โชว์ของเก่า ย้ำสร้างแลนด์มาร์ค เทียบเท่า ลูฟวร์ ปารีส
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เวลา 16.30 น. ที่ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการ กทม.และลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมือง กทม. ครั้งที่ 1/2565
นายชัชชาติ กล่าวว่า การบริหารจัดการดังกล่าว คือแนวคิดย้ายที่ทำงานจากศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ไปยังศาลาว่าการ กทม. ดินแดง เพื่อให้เป็นศูนย์รวม การติดต่อหน่วยงาน การเดินทาง ให้มีความสะดวกมากขึ้น มีการประสิทธิภาพพื้นที่ดีขึ้น จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย
1.คณะกรรมการบริหารจัดการในการย้ายหน่วยงาน/ส่วนราชการภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง (คณะกรรมการภายใน)
2.คณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการ กทม.และลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมือง กทม. (คณะกรรมการภายนอก)
“ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า สร้างมาตั้งแต่สมัยปี พ.ศ.2499 กว่า 66 ปีแล้ว เป็นพื้นที่ใหญ่ อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เป็นจุดที่สมัยก่อนเรียกว่าสะดือกรุงเทพฯ มีทั้งเสาชิงช้า โบสถ์พราหมณ์ วัดสุทัศน์ฯ เป็นแหล่งรวมของย่านในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน จะเอาพื้นที่พัฒนา แนวคิดอันแรกคือพิพิธภัณฑ์” นายชัชชาติกล่าว
ย้ายไม่ง่าย 8 หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ 2,500 คน รับ ‘มีแรงต้านภายใน’
นายชัชชาติ กล่าวว่า วานนี้ มีการประชุมคณะกรรมการภายใน โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ซึ่งศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า มีหน่วยงาน 8 แห่ง มีเจ้าหน้าที่จำนวน 2,500 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องย้ายมา เพราะต้องปรับปรุงกายภาพศาลาว่าการ กทม. ดินแดงด้วย
“อุปสรรคภายในคือ เจ้าหน้าที่ไม่อยากย้าย ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทุกคนหวั่นไหว กลัวเปลี่ยนแล้วจะมีปัญหาเรื่องโรงเรียนลูก แต่คงไม่ได้พรุ่งนี้ มะรืนนี้หรอก ก็คงต้องใช้เวลาเตรียมพื้นที่ ซึ่งทางคณะกรรมการดำเนินการแมปปิ้ง อย่างตึกนี้อยู่ที่ไหน เอาคนมาอยู่ที่ไหน เพื่อให้ใช้พื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการภายนอก มีการเชิญคนนอกเข้ามา ซึ่งที่ประชุมวันนี้มีการถกเถียงกันเยอะมาก เป็นการประชุมที่สนุกมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะคณะกรรมการอื่นที่ผ่านมาไม่ได้ถกอะไร ซึ่งมีการถกเถียงว่า ทำเพื่ออะไร ย้ายเพื่ออะไร ผลกระทบต่อชุมชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของ กทม.ไปจับจ่ายใช้สอยเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ ถ้าย้ายออกไปแล้วชุมชนจะมีปัญหาหรือไม่ หรือเมื่อเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เหมือนกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในกรุงเทพฯ โดยที่ประชุมมีข้อสรุปสำคัญคือ เมืองควรจะมีแหล่งเรียนรู้ เป็นศูนย์ที่รวบรวมความเป็นเมืองไว้ อาจจะไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ แต่เป็นหมุดหมายของเมือง เช่นที่ จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ รวมถึงหลายเมืองทั่วโลก
“จุดสำคัญคือจะทำศูนย์นี้เพื่ออะไร มีการถกกันอยู่ 2 ชั่วโมง จุดมุ่งหมายของการทำตรงนี้ ถ้าเราเริ่มผิดมันก็ไปผิด คณะกรรมการมีข้อสรุปอยู่ 4 แนวทาง ได้แก่
1.ต้องรวมความเป็นคนเมือง หรือเป็นศูนย์กลางคนเมือง (People District, People Square) พิพิธภัณฑ์จะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นประวัติความเป็นมาของคนเมืองตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบเก่าๆ แต่สะท้อนความเป็นคน ความเป็นเมือง
2.ต้องมีการฟื้นฟูสภาพเมืองชั้นในให้คึกคัก ให้เชื่อมโยงมากขึ้นกับหลายพื้นที่ ทั้งถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งมีหอสมุดเมือง นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โลหะปราสาท ภูเขาทอง วัดสุทัศนเทพวราราม พระบรมมหาราชวัง ศาลหลักเมือง สนามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการใช้พื้นที่ดังกล่าวจะทำให้มีการฟื้นฟูสถานที่โดยรอบด้วย บทบาทของมันไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่เป็นการสร้างเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับบริบทที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุมชน พื้นที่สำคัญต่างๆ ทำให้มีสเปซเพิ่มขึ้นในการทำตรงนี้” นายชัชชาติกล่าว
3.ต้องเป็นหมุดหมายที่สำคัญ เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ทุกคนจะต้องมา ให้เป็นแลนด์มาร์คหรือจุดเช็คอิน ต้องมีเนื้อหาที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ มีชีวิตชีวา ซึ่งไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย
4. ต้องเป็นพื้นที่แสดงชีวิตของคน เป็นสิ่งที่คนมีส่วนรวม จัดกิจกรรม ทั้งศิลปะ สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ตามนโยบายกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
นี่เป็นจุดที่ถกเถียงกันอยู่นาน ตกผลึกกันมาแล้ว สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ที่แสดงของเก่า แต่ไว้แสดงชีวิตของคนเมือง ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เป็นเรื่องที่สนุกนะ ตื่นเต้น ผมว่าคณะกรรมการทุกท่านสนุกและมีความหวัง ยังถามเลยว่าพวกเราฝันมากไปรึเปล่า อ.หน่อง (ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร) บอกว่าต้องฝันให้ไกลไปให้ถึง ก็ไม่ใช่ว่าจะเสร็จวันพรุ่งนี้ อุปสรรคมีอีกเยอะเลย สิ่งที่ทำไม่ใช่ง่าย” นายชัชชาติกล่าว
ตั้งอนุกรรมการอีก 2 ชุด กายภาพ-เนื้อหา กำหนดศึกษา 2 ปี
นายชัชชาติ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุด คือ
1.คณะอนุกรรมการกายภาพ มีหน้าที่สำรวจพื้นที่ อย่างหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อยากมีที่ตั้งภายในด้วย เพื่อนำภาพยนตร์เก่ามาฉายให้ประชาชนได้ดู คนสามารถแวะเวียนมาได้
2. คณะอนุกรรมการเนื้อหา เพื่อเชื่อมโยงระหว่างลานคนเมืองกับตัวอาคาร เน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับคน เป็นจัตุรัสคน มีกิจกรรมต่างๆ สอดประสานเด็ก ผู้ใหญ่ คนทุกวัยเข้าด้วยกัน โดยในต้นเดือนธันวาคมนี้ จะมีการประชุมกัน ศึกษาเพิ่มเติมรายละเอียด
“คณะกรรมการฯ ชุดนี้ กำหนดไว้ 2 ปี แต่ผมว่าต้องทำให้รอบคอบ ถ้าทำต้องทำให้ดีจริง คิดว่าทุกคนก็ตื่นเต้น น่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้” นายชัชชาติกล่าว
เมื่อถามว่าจะเริ่มย้ายเจ้าหน้าที่จากศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ไปยังศาลาว่าการ กทม. ดินแดง ได้เมื่อไหร่ นายชัชชาติ กล่าวว่า จะค่อยๆทยอยย้ายเข้ามา แต่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะต้องอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า
“สิ่งที่กังวล 2 เรื่องคือ พนักงานเราเองมีแรงต่อต้านภายใน ไม่อยากย้าย แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องธรรมดาของทุกแหล่งงาน ก็บอกแล้วว่าพนักงาน กทม.ก็โชคดีอยู่แล้วกว่าประชาชนทุกคน เราต้องเสียสละเพื่อให้ประชาชนได้หมุดหมายของเมืองเพิ่มขึ้น สิ่งที่ทำให้ประชาชนมีที่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมว่าข้าราชการน่าจะเข้าใจ และยอมตรงนี้ได้ กทม.ก็ดูแลพวกเราดีอยู่แล้ว อีกอันที่คนกังวล ผมก็เคยโดนแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวด่ามา ถ้ารู้ว่าจะย้าย กทม.ไปไม่เลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรอก เขาก็กังวลว่าเจ้าหน้าที่ กทม.ย้ายไปร้านก๋วยเตี๋ยวแถวนั้นจะขายไม่ดี ก็ต้องบอกว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยี มากกว่าโลเคชั่นด้วยซ้ำ พนักงาน กทม.เองก็สั่งอาหารกินจากออนไลน์ เผลอๆไม่ได้ออกมากินข้างนอก
จริงๆแล้วเราเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนงานก็อาจจะมีคนมาเยอะด้วยซ้ำ ถ้าเราทำเนื้อหาที่ดี เผลอๆร้านจะยิ่งแน่นกว่านี้ ก็เป็น 2 บริบท ที่กรรมการบอกว่าเวลาทำอย่าทำเฉพาะตัวตึก เราถึงบอกว่าเป็นย่าน เป็น People Square เป็นย่านของคน เราจะเอาร้านค้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้วย ให้เกิดอิมแพคกระจายไปทั้งกรุงเทพฯ” นายชัชชาติกล่าว
ทยอยย้าย ขออย่ากังวล เสาชิงช้า-ดินแดง ไม่ไกลมาก
เมื่อถามว่า ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง มีความพร้อมที่จะรองรับเพียงพอหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่นี่ลงทุนไปเยอะ บางอย่างแบ่งปันได้ หลายๆห้องใหญ่เกินไป อย่างตนก็มีอยู่ 2 ห้อง ทั้งที่เสาชิงช้า และดินแดง เป็นการใช้ทรัพยากรโดยไม่จำเป็น
“ผมว่าน่าจะย้ายทันในสมัยผม อย่างน้อยต้องมีส่วนหนึ่งที่ย้ายมาแหละและเตรียมปรับปรุง มันเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่จำเป็น อย่างเอกสาร อยู่ที่นี่เจอใครก็เดินไปเจอได้ ถ้าอยู่คนละที่ กว่าจะเจอ กว่าจะประชุมที มันก็วุ่นวาย เพราะจุดประสงค์หลักที่ทำ ก็คือต้องการให้อยู่ที่เดียวกัน ถ้าเราคืนพื้นที่ให้คน ให้เป็นศูนย์กลางของเมือง ผมว่ามันก็มีประโยชน์” นายชัชชาติกล่าว
“พวกเราพี่น้องข้าราชการอย่าเพิ่งตื่นเต้น หลายคนกังวลเรื่องลูกว่าเรียนอยู่แถวนู้น แต่ก็ไม่ได้ไกลกันมากนัก ไม่ได้ไกลขนาดเดินทางไม่ได้” นายชัชชาติกล่าว
เมื่อถามว่า หลังคณะกรรมการมีการศึกษา 2 ปี จะเห็นไทม์ไลน์อย่างไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า หนึ่งปีก็น่าจะเห็นแล้ว แต่ก็เป็นตั้งเวลาเผื่อไว้ กรรมการหลายคนยังไม่เห็นในพื้นที่ โจทย์ของเราไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ไม่ต้องทำก็ได้
“เราไม่ได้มาด้วยคำตอบ แต่เรามาด้วยคำถามว่าเหมาะสมไหม ควรทำไหม ควรทำอะไร แค่วัตถุประสงค์ยังถกกัน 2 ชั่วโมงเลย แต่ละคนก็มีผู้มีประสบการณ์ทั้งนั้น ในการทำเรื่องชุมชน ศิลปวัฒนธรรม
ผมเชื่อว่าการเอา กทม.ย้ายออกมา อย่างน้อยร้านค้าก็ดีขึ้น เพราะที่จอดรถ 500 คัน ก็สามารถให้คนมาเข้าจอด ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ปัจจุบัน กทม.จอดรถเองหมดเลย ร้านค้าแถวนั้นยิ่งลำบาก เพราะหาที่จอดรถไม่ได้ เราก็เห็นลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อไม่ใช่ลูกค้า กทม. อย่างร้านแถวนั้น มนต์นมสด คนนอกมาซื้อทั้งนั้นแหละ ลำบากเพราะหาที่จอดรถไม่ได้ด้วยซ้ำ
จริงๆแล้วไม่ต้องกังวลว่า กทม.ย้ายไปเมืองจะตาย จริงๆแล้วมีคนมาทดแทน แต่โปรแกรมเราต้องดี ต้องมีคนมาดูหมุนเวียน เป็นย่านของคนเมืองจริงๆ อนาคตจะเป็นคนมาเดินเหมือนต่างประเทศ อาจจะเปิดถึงเที่ยงคืน เป็น People Square จริงๆ มันจะกระจายไปถึงราชดำเนินกลาง กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆด้วย” นายชัชชาติกล่าว