กทม.จริงจัง ‘สิทธิเด็ก’ นำร่อง 9 รร.คุ้มครองสวัสดิภาพ ‘นักเรียนเลว’ ร่วมภาคีดันนโยบาย

9 โรงเรียนสังกัด กทม.นำร่องพัฒนาและคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็ก

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน  เวลา 10.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานแถลงข่าว “การขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสิทธิเด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็กในกรุงเทพมหานคร” พร้อมพูดคุยเรื่องสิทธิเด็กและความปลอดภัยในเด็ก เนื่องในโอกาสวันเด็กสากล (World Children’s Day) และวันครบรอบ 30 ปี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร

นายศานนท์กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะมองว่า เด็กคือปัจจุบันและอนาคตของชาติ ดังนั้นหากเด็กๆ ได้รับการพัฒนา คุ้มครอง และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ไม่ว่าในทางพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ย่อมเป็นหลักประกันที่สำคัญต่ออนาคตของเมืองและประเทศ และบรรลุความมุ่งหมายอันสูงสุดสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น กทม. มีเป้าหมายที่จะมุ่งไปสู่เมืองที่เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก โดยมุ่งให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. มีนโยบายคุ้มครองเด็ก พัฒนาระบบและกลไกคุ้มครองเด็ก และเจ้าหน้าที่ประสานงานสิทธิและการคุ้มครองเด็ก

โดยในปี 2566 นี้ กทม. จะเริ่มต้นนำร่องในโรงเรียน 9 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 3 แห่ง ในสังกัด กทม. รวมทั้งหน่วยงานระดับสำนัก เช่น สำนักการศึกษาและสำนักอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงและออกประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับเด็กบนฐานสิทธิเด็ก คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็ก และเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประการสำคัญ กทม. จะจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็ก พร้อมทั้งจะจัดทำแนวทางปฏิบัติระดับโรงเรียน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและผู้ปกครอง ให้เด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองตามนโยบายคุ้มครองเด็ก (Child Safeguarding Policy) เป็นสำคัญ อีกทั้งสำหรับเด็กเองนั้น จะส่งเสริมให้เด็กได้รับการเรียนรู้ด้านสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน การป้องกันคุ้มครองตนเองจากภยันตรายและความรุนแรงทั้งทางกายภาพ และภัยจากสื่อต่างๆ และบรรจุประเด็นการส่งเสริมสิทธิเด็กเข้าเป็นนโยบายสำคัญข้อที่ 216 ของกรุงเทพมหานคร

Advertisement

“เราต้องจริงจังกับคนที่จะอยู่กับเมืองในอนาคต โดยอาศัยหลายภาคส่วน และความเข้มงวดจากผู้บริหาร ในเรื่องสิทธิและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งเป็นรากฐานของมนุษย์ทุกคน และเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่สุดของเมืองทุกเมือง” รองศานนท์กล่าว

ด้าน นางสาวดวงรักษ์ เลิศมั่งมี ผู้แทนภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนฯ และผู้อำนวยการมูลนิธิวายไอวาย กล่าวว่า ภาคีภาคประชาสังคมมีความยินดีที่ กทม.มีความมุ่งมั่นและจะเป็นผู้นำในการสร้างเมืองที่เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นที่แรกของประเทศ โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 11 องค์กรพร้อมให้การสนับสนุน กทม. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านข้อมูล องค์ความรู้ บุคลากร ในการจัดระบบคุ้มครองและช่วยเหลือเด็ก และส่งเสริมสิทธิเด็ก โดยภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนฯ มุ่งหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เด็กทุกคนใน กทม. ไม่ว่าจะมีสถานภาพ เพศสภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา สัญชาติ ถิ่นกำเนิด หรือความเชื่อใดก็ตาม จะได้รับการพัฒนา คุ้มครอง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และยึดถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

Advertisement

นางสาววรางคณา มุทุมล ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และคุณภาพโครงการ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและความสำคัญต่อการส่งเสริมความปลอดภัยในพื้นที่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนว่า 3-18 ปี คือช่วงวัยที่เด็กจะได้พัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในด้านต่าง ๆ ซึ่งสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เป็นมิตรและปลอดภัยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่น่าวิตกกังวลที่ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะการควบคุมวินัยที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการกลั่นแกล้งในหมู่เพื่อนฝูง โดยเฉพาะเด็กกลุ่ม LGBTQIA+ มีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกล่วงละเมิดและถูกเลือกปฏิบัติ จากรายงานผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2561 พบว่า กว่า 40% ของเด็กไทยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเด็ก อาทิ การออกจากโรงเรียนและภาวะซึมเศร้า จึงต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมและเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนมีความปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน มูลนิธิฯ เชื่อว่าการที่ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนานโยบายคุ้มครองเด็ก เสริมสร้างศักยภาพบุคลากร ครู เจ้าหน้าที่ และทำงานร่วมกับกลุ่มแกนนำเด็กเพื่อประเมินติดตามสร้างนโยบายคุ้มครองเด็ก จะทำให้เกิดระบบการคุ้มครองที่เป็นมิตรกับเด็ก และผู้ใหญ่ที่มีทักษะในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก

สำหรับการดำเนินการในปัจจุบัน กทม.ได้ออกประกาศ กทม. เรื่องการส่งเสริมสิทธิเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ในเดือนกันยายน 2565 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการโดยสำนักการศึกษา จะได้จัดประชุมร่วมกับภาคีร่วมขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการ โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนนำร่อง และเริ่มดำเนินการต้นปี 2566 เป็นต้นไป โดยกทม. จะขับเคลื่อนสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็กนำร่องในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก 12 แห่ง ประกอบด้วย 1. กทม. จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสิทธิเด็กและความปลอดของเด็กในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคม โดยมีสำนักการศึกษาเป็นกองเลขา 2.พัฒนาหลักสูตรและเสริมสร้างศักยภาพ ด้านสิทธิเด็กและความปลอดภัยของเด็ก สำหรับผู้บริหารและบุคลากร ของสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก 3.สร้างระบบสนับสนุนในการให้สำนักงานศึกษาและสำนักพัฒนาสังคม ในการพัฒนานโยบายคุ้มครองเด็ก สำหรับสำนักฯ โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก 4.สำนักการศึกษาและสำนักพัฒนาสังคม แต่งตั้งผู้รับผิดชอบเรื่องสิทธิเด็ก และจัดตั้งกลไกรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิเด็กที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานในสังกัดของสำนัก รวมทั้งจัดให้มีระบบการช่วยเหลือสนับสนุนและการส่งต่อหน่วยงานบริการสนับสนุนช่วยเหลือเด็กที่เกี่ยวข้อง 5. พัฒนานโยบายและกลไกการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่อง และ 6.จัดเวทีสาธารณะเพื่อถอดบทเรียนและประเมินผลประจำปี

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและตัวแทนเยาวชน จัดงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสิทธิเด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยรอบด้านของเด็กในกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าเด็กทุกคนในกรุงเทพมหานคร จะได้รับการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิเด็ก โดยจะมีการสร้างและพัฒนาระบบกลไก บุคลากรของหน่วยงาน กทม. ในทุกระดับ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเด็กทุกคนใน กทม. โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่มาของการขับเคลื่อนประเด็นนี้เกิดจากสถานการณ์การละเมิดเด็กที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ตรงกัน รวมทั้งเด็กในฐานะผู้ทรงสิทธิและผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้สะท้อนในเวทีมหกรรมเด็กและเยาวชน BKK-เรนเจอร์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดย เด็กๆ ได้สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียน ว่ายังมีการทำโทษที่รุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตรวจวินัยตามมาตรฐานเดิมในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจ MICS 6 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเพื่อการอบรมสั่งสอนถึงร้อยละ 58 จากค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ

สำหรับภาคีที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กลุ่มนักเรียนเลว มูลนิธิวายไอวาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เครือข่ายครูก่อการสิทธิเด็ก (TTCR) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) UNICEF Thailand สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฯลฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image