ยังนิ่ง! แก้รุกหาดหัวหินไม่คืบหน้า ผู้บุกรุกตามคำพิพากษาเมินรื้อถอน

แก้ปัญหารุกหาดหัวหินไม่คืบหน้า ผู้บุกรุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมินรื้อถอนอาคารตามมติที่ประชุม กก.ระดับจังหวัด

วันที่ 23 พฤศจิกายน นายอนุวัช เต็มชัย ปลัดอำเภอหัวหิน เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีการก่อสร้างอาคาร 40 หลังบุกรุกชายหาดหัวหิน บริเวณถนนนเรศดำริห์ ตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมถึงสะพานปลาหัวหิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าสำหรับการรื้อถอนอาคารทั้งหมด หลังจากศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาฎีกา เมื่อปี 2557 และเทศบาลได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้บุกรุก 9 รายที่มีคำสั่งศาลพิพากษาถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย 2456 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้รื้ออาคารภายใน 30 วัน และชำระค่าปรับรายวันตามที่ศาลสั่งรายละกว่า 1-2 ล้านบาท ตามระยะเวลาที่บุกรุก แต่ไม่มีผู้บุกรุกรายใดรื้อถอนอาคาร จากการตรวจสอบพบว่ามีเพียงผู้บุกรุก 1 ราย ตามคำสั่งศาล จ่ายค่าปรับตาม พ.ร.บ..ควบคุมอาคาร กว่า 2 ล้านบาท

นายอนุวัชกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะมีข้อสรุปเพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการฯกำหนดแนวทางจะใช้คำสั่งคณะปฏิบัติที่ 44 /2502 (ปว 44) ประกอบคำสั่ง คสช.ที่ 4 /2558 เข้าดำเนินการรื้อถอนหลังมีการปิดประกาศภายใน 15 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจในการรื้อถอนอาคารตามขั้นตอนที่กำหนด แต่ขณะนี้ผู้บริหารระดับจังหวัดยังไม่ตัดสินใจดำเนินการตามมติดังกล่าว ทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่นานกว่า 2 เดือน ที่สำคัญก่อนหน้านี้คณะกรรมการฯได้เชิญผู้บุกรุกทั้งหมดมาประชุมที่เทศบาลเมืองหัวหิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมอ่านแถลงการณ์ให้รับทราบแนวทางการรื้อถอนตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และมีกำหนดให้ผู้บุกรุกดำเนินการตามเงื่อนไขภายในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีผู้บุกรุกรายใดแสดงเจตนาในการรื้อถอนอาคารแม้แต่รายเดียว

“มติที่ประชุมคณะกรรมการมีแถลงการณ์สรุปว่า ไม่มีผู้ประกอบการรายใด มีเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว และมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมานาน สมควรจะคืนให้ประชาชนทั่วไปใช้พื้นที่ได้เท่าเทียมกันตามที่สื่อมวลชนนำเสนอ สำหรับผู้บุกรุกที่มีคำสั่งศาลถึงที่สุดให้ดำเนินการตามคำพิพากษา หากฝ่าฝืนจะดำเนินการบังคับคดี สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะรื้อถอนอาคารภายในเวลาที่กำหนด ทางราชการจะสนับสนุนการรื้อถอนตามที่ร้องขอ และหากผู้ประกอบการไม่ยอมรื้ออาคาร หน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเจ้าของอาคารต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด และหากมีปัญหาอุปสรรคในการใช้กฎหมายปกติไม่มีประสิทธิภาพ ทางราชการจำเป็นต้องใช้กฎหมายอื่นที่มีความเฉียบขาด” นายอนุวัชกล่าว

Advertisement

นายชัยชาญ มูลมาก นิติกรที่ทำการปกครอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ก็จะเป็นปัญหากับการปฏิบัติงานกับผู้บุกรุกที่ชายหาดตำบลปากน้ำปราณ ชายหาดอำเภอสามร้อยยอด ชายหาดในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านกรูด อ.บางสะพาน สำหรับช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ จะเชิญประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง โดยเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง และตนในฐานะฝ่ายกฎหมายจะสรุปแนวทางการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเสนอผู้มีอำนาจ หากไม่มีความคืบหน้าในระดับจังหวัดก็จะเสนอ คสช.ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image