ชัชชาติ ถกปัญหา ‘บางขุนเทียน’ ทะเลกัดเซาะ 2,700 ไร่ สั่งลอกท่อ-คูคลองครบ 100% ในปี 67 เข้ม PM2.5

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ห้องประชุมแสมขาว ชั้น 2 สำนักงานเขตบางขุนเทียน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานในการประชุมกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” ร่วมกับ นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน และนายสารัช ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางขุนเทียน

เมื่อเวลา 12.20 น.นายชัชชาติ เปิดเผยหลังการประชุมว่า เขตบางขุนเทียนมีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 180,000 คน ซึ่งเป็นเขตที่สำคัญและมีหลายภาคส่วนทั้งธุรกิจและอุตสาหกรรม มีเส้นทางคมนาคมและหมู่บ้านจัดสรร มีเกษตรกรรมและชายทะเล เรื่องสำคัญในวันนี้คือเรื่องที่ต้องเร่งทำทุกเขตคือเรื่องการจัดเก็บรายได้ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเป็นเขตใหญ่ ประมาณ 69% ต้องเร่งทำฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เก็บภาษีได้อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมมากขึ้น และเน้นเรื่องการดูแลสวัสดิการครู คุณภาพของอาหารกลางวัน การดูแลครูในสาขาต่างๆ เช่นครูสอนภาษาและอัตราครูที่ยังขาดอยู่ อีกเรื่องคือ PM2.5 เพราะในพื้นที่มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า อีกปัญหาคือเรื่อง PM2.​5 ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งถูกควบคุมโดยกรมโรงงาน มีถนนพระราม 2 ซึ่งมีรถบรรทุกวิ่งจำนวนมาก โดยจะเน้นการกำจัดต้นตอของฝุ่นทั้งในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและจากการเผาชีวมวล​ รวมถึงรถที่ปล่อยควันพิษด้วย​ นอกจากนี้ ในพื้นที่เขตบางขุนเทียนยังได้ดำเนินโครงการ ​Bangkok​ Food bank​ คืออาหารที่ยังบริโภคได้ แต่ไม่ได้นำไปจำหน่าย โดยนำมาให้ประชาชนที่มีความต้องการคล้ายกับธนาคารอาหาร​ ได้ดำเนินการไปแล้ว​กว่า 40 ร้านเพื่อเป็นเครือข่ายให้ประชาชนมีทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต​

“ด้านปัญหาที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน เพราะพื้นที่บางขุนเทียนอยู่ติดริมทะเล​ และน้ำท่วมจากฝนตกในพื้นที่ กทม.ได้สำรวจพิกัดจุดน้ำท่วมแล้วขณะนี้มี​ 10 กว่าจุด​จึงได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำวางแผนระยะยาว​โดยลอกท่อ​และคูคลอง จะเร่งดำเนินการภายในปี 2567 ให้ครบ​ทั้ง​ 100% รวมถึงการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะที่ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมา เนื่องจากบางขุนเทียนมีพื้นที่ชายทะเล​ 47 กิโลเมตร​ โดนกัดเซาะไปแล้ว​ 2,700​ ไร่​ ซึ่งก่อนหน้านี้ ​กทม.ได้มีการนำเสนอโครงการเข้า Environmental Impact Assessment Report (EIA) หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการหาวิธีป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะหลากหลายวิธีจนได้ข้อสรุปว่า​วิธีทำเขื่อนเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด​และชาวบ้านก็เห็นด้วย เพราะไม่ทำให้เกิดขยะ​ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการเรื่องทรัพยากรชายฝั่งจะพิจารณาต่อไป” นายชัชชาติกล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image