กทม.เร่งตรวจสอบ ‘วงจรปิด’ พร้อมใช้ เล็งจับมือบ.ประกันภัย ติดกล้องหน้ารถทุกคัน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) มีนโยบายให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) มีความพร้อมในการใช้งานได้หรือไม่ ว่า ล่าสุดได้ประสานไปยัง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และ กทม.ในการสอดส่องดูแลทั้งปัญหาการจราจร และปัญหาอาชญากรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายชื่อคณะทำงานจาก บช.น. ก่อนที่จะเป็นการปรับมุมกล้องเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของคณะทำงาน เช่นเดียวกับการร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่ง บช.น.จะเป็นผู้ดูแลในส่วนนี้ หากมีคณะทำงานแล้วจะสามารถตรวจดูกล้องวงจรปิดได้อย่างรอบด้าน

“ถามว่าจะต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มหรือไม่ ต้องรอดูก่อนว่าหากมีการปรับกล้องวงจรปิดของภาคเอกชน กทม. และ บช.น.แล้ว จะสามารถดูแลได้อย่างคลอบคลุมทุกพื้นที่หรือไม่” พล.ต.ท.อำนวย กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.อำนวย ยังกล่าวถึงโครงการรณรงค์ให้รถยนต์ทุกคันในพื้นที่กรุงเทพฯ ติดกล้องวงจรปิด ว่า โครงการนี้เป็นการรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคล การสร้างวินัยจราจร รวมถึงการป้องกันอาชญากรรม ซึ่งจะต้องปฏิรูปร่วมกับบริษัทประกันภัย สำหรับแนวทางการดำเนินงานคือ ในระยะ 5 ปีแรก หากประชาชนรายใดติดตั้งกล้องวงจรปิด บริษัทประกันภัยจะลดเบี้ยประกันให้เท่ากับราคากล้องวงจรปิด

“ในเบื้องต้นได้มีการเจรจากับตัวแทนบริษัทประกันภัยและมีความเห็นพ้องกัน โดยบริษัทประกันภัยให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาพบกรณีเคลมรถเถื่อน โดยจงใจให้เกิดอุบัติเหตุเพื่อต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ ใหม่ ทั้งนี้ หากมีการสานต่อโครงการจริงก็จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ขับขี่และบริษัทประกันภัยด้วย โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดรถยนต์ทุกคันนี้ ถือเป็นการควบคุมวินัยจราจรของทั้งผู้ขับและผู้คนที่ร่วมใช้พื้นที่ใช้ท้องถนน เช่น การฝ่าไฟแดง และเพื่อการป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น เพราะจากเดิมที่มีกล้องวงจรปิดติดอยู่บริเวณเสาไฟ หากทำลักษณะนี้ กทม.จะมีกล้องเคลื่อนที่เป็นล้านๆ ตัว ที่ช่วยให้มีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง” พล.ต.ท.อำนวย กล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกล้องวงจรปิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สจส.ทั้งสิ้น 53,249 ตัว โดยสามารถเชื่อมโยงสัญญาณภาพกับส่วนกลางได้ 14,845 ตัว และไม่ได้เชื่อมโยงกับส่วนกลาง 38,404 ตัว ด้วยเหตุผลว่าการเชื่อมโยงสัญญาณด้วยระบบไฟเบอร์ ออพติค ต้องใช้เงินลงทุนนับพันล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image