ผอ.ชลประทาน ย้ำชัดทุกหน่วยงาน ต้องดูแลแนวคลองตามพระราชดำริแก้น้ำท่วมหัวหิน

ผอ.ชป.14 ย้ำชัดทุกหน่วยงานต้องช่วยกันดูแลแนวคลองตามแนวพระราชดำริแก้ปัญหาน้ำท่วมหัวหิน

จากกรณีกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 (มทบ.15) ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรวจสอบระบบการระบายน้ำจากแนวคลองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน และวังไกลกังวล เมื่อปี 25542 โดยมีการสำรวจคลองระบายน้ำ 3 แห่ง คือ 1.คลองนิลหรือคลองอีออก 2.คลองโคกเกลือ และ 3.คลองแม่จำเนียร เนื่องจากพบกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำการขุดลอกคลอง เพื่อให้น้ำไหลลงทะเลได้ตามปกติ สนองแนวทางตามโครงการพระราชดำริ ล่าสุดผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์มีคำสั่งที่ 2740/2559 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2559 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จ และให้รายงานผลภายใน 30 วัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้านั้น

วันที่ 26 พฤศจิกายน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 14 อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2542 มีฝนตกหนักช่วงเดือนตุลาคม ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีรับสั่งให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ต่อมา กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหานี้ด้วย ขณะนั้นพระองค์ท่านได้รับสั่งให้แก้ปัญหาด้วยการยอมให้น้ำผ่านบริเวณหน้าวังไกลกังวลได้ด้วย เพราะไม่มีพระราชประสงค์ให้ขวางทางน้ำ เป็นอันดับแรก สำหรับชุมชนหมู่บ้านที่อยู่บริเวณหน้าวังตลอดระยะทาง 4-5 กิโลเมตร ก็ให้พัฒนาเป็นคูระบายน้ำผ่านเข้าวังไกลกังวลเข้าไปข้างใน แล้วพระองค์ท่านก็ให้ขุดคูล้อมสระของวังฯ แล้วค่อยๆ ระบายน้ำออกสู่ทะเล ภายในวังฯ จะมีประตูระบายน้ำคอยปิด-เปิดเพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาในเมืองด้วย

“พระองค์ได้ดูแผนที่ในเขตหัวหินด้วยการแบ่งเป็นโซนๆ กลางเมืองไปทางทิศเหนือ แล้วยังมีทางน้ำไหลจากภูเขา เช่น คลองอีออก คลองเกวียนหัก คลองนิล คลองโคกเกลือ และคลองสนามบิน จุดนี้จึงให้ขุดลอกแล้วให้ระบายออกสู่ทะเล จึงเป็นที่มาของการลอกคลองขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีรับสั่งว่า เวลาน้ำมาเยอะ มักจะเจอบ้านคน เจอทางรถไฟก่อน ซึ่งอันตรายมาก จึงรับสั่งให้ขุดคลองยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ที่ชาวบ้านเรียกว่า คลองน้ำฝน เพื่อดักน้ำระบายออกสู่ทะเล ส่วนคลองชลประทาน พระองค์รับสั่งให้ดูแลทุกข์สุขของชาว อ.ชะอำ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีและ อ. หัวหิน เพื่อไม่ให้ขาดแคลนน้ำ” ผอ.สำนักชลประทาน กล่าว

Advertisement

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะ เวลา 18 ปี การดูแลรักษาคลองระบายน้ำทุกเส้นหลายหน่วยงานต้องทำร่วมกัน เนื่องจากอยู่ในเขตชุมชนเมือง แต่ขณะนี้สายคลอง 4-5 เส้น เปลี่ยนไปตามความเจริญ ดังนั้นทุกภาคส่วนตะต้องดูแลอย่างจริงจัง คลองทั้ง 5 เส้น ที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสไว้มีความจำเป็นกับชาวหัวหิน และ ต้องขุดลอกอย่างต่อเนื่อง ส่วนราชการต่างๆ จะต้องช่วยกัน เช่น คลองน้ำฝน กรมชลฯ และ เทศบาลหัวหินก็รับผิดชอบขุดลอกทุกปีเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่คลอง 5 เส้น ถ้าไปขวางทางน้ำ เวลาฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตร (มม.) ก็จะมีน้ำท่วมไหลบ่า สิ่งที่กีดขวางทางน้ำ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ติดตามปัญหาการถมคลองตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินให้ทำการตรวจสอบ และทบทวนหรือเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ พร้อมกับเอาผิดกับเจ้าของหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายอาญาให้ถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการกระทำอันมิบังควร ทั้งนี้หากครบเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันยื่นหนังสือถึงกรมที่ดิน หากยังไม่มีหนังสือตอบกลับก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยร้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับสำนักงานคณะกรรมการ ปปช.

“สมาคมฯได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 และ มีการตรวจสอบการก่อสร้างทับแนวคลองทั้งหมด ตาม พรบ.ควบคุมอาคาร 2522 และขอให้แจ้งผลให้ทราบตาม พรบ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่ขณะนี้ยังไม่รับการชี้แจงแต่อย่างใด “ นายศรีสุวรรณ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image