‘สุกรี’ ชวนฟังดนตรีในสวน 29 ม.ค. สวนหลวงพระราม 8 ขับขาน ‘เพลงชาวบ้าน’ ทรงคุณค่า

‘สุกรี’ ชวนฟังดนตรีในสวน 29 ม.ค. สวนหลวงพระราม 8 ขับขาน ‘เพลงชาวบ้าน’ ทรงคุณค่า

เมื่อวันที่ 27 มกราคม รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา และประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยกับ “มติชน” ถึงกิจกรรม “ดนตรีในสวน เพลงชาวบ้าน” ที่สวนหลวงพระราม 8 วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 17.30-19.00 น. ซึ่งจัดขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ว่าปีที่แล้ว (2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ชวนผมไปแสดง (ดนตรีในสวน) แต่ปีนี้ไม่ได้ชวน ประกอบกับอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาชักชวนให้มาเล่น พร้อมเสนอให้ผมคิดว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไร จึงเสนออธิการบดีว่าควรจะเล่นหน้าสวนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา บริเวณสะพานพระราม 8 ร่วมกับ กทม.ในการขอพื้นที่ พร้อมขอวงดนตรีขนาดใหญ่ร่วมแสดง สรุปแล้วจัดทั้งหมด 6 สัปดาห์ โดยวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคมนี้ เป็นสัปดาห์ที่ 4

รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า สัปดาห์แรกเป็นการแสดงของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สัปดาห์ที่ 2 เป็นการแสดงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สัปดาห์ที่ 3 คือวงออเคสตรา กรมดุริยางค์ทหารบก ส่วนสัปดาห์นี้เป็นวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราที่จะเล่นเพลงชาวบ้าน ด้านความพร้อมเราพร้อมจะเล่นอยู่แล้ว

การแสดงของวงออเคสตรา กรมดุริยางค์ทหารบก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับ “ไฮไลต์” ที่พลาดไม่ได้ รศ.ดร.สุกรีเปิดเผยว่า ทีเด็ดสัปดาห์นี้คือเพลงของชาวบ้าน เพลงกล่อมลูกสมัยอยุธยา เพลงวัดโบสถ์ เพลงการะเกด เพลงกาเหว่า และเพลงไทยเดิม ความรักของหนุ่มสาวในอดีตแบบโรเมโอ-จูเลียตอย่างเพลงลาวดวงเดือน เพลงโยสลัมของฝรั่งที่มาจากโปรตุเกส

รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเพลงศิลปินร่วมสมัย เช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เขียนเพลงเครือญาติ เพลงคนไทย เพลงขอม ทั้งนี้ สุจิตต์เขียนเพลงเกี่ยวกับ 16 ตุลาด้วย นั่นคือ “หนุ่มสาวเสรี” ขณะที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จะมาร้องเพลงของตัวเองที่เขียนไว้ เช่น เพลงรุ้งพระจันทร์ เพลงน้ำลอดใต้ทราย ซึ่งเพลงนี้ (น้ำลอดใต้ทราย) มีชื่อเพลงและทำนองโบราณแล้วมาใส่เนื้อใหม่

Advertisement

“เรายังนำบทเพลง ‘เดือนหงายกลางป่า’ ของ ป่อง ต้นกล้า ซึ่งเป็นเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เรียน ม.ธรรมศาสตร์ แล้วเข้าป่าไป ก่อนจะกลายเป็นคนเขียนเพลงในป่า กลายเป็นเพลง ‘เดือนหงายกลางป่า’

“ป่อง ต้นกล้า เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 ฌาปนกิจไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม การนำเพลงของ ป่อง ต้นกล้า มาเล่นก็เหมือนเป็นการทำเพลงให้มีชีวิต” รศ.ดร.สุกรีระบุ

ภาพโดย Princess Galyani Vadhana Institute of Music

รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า วันอาทิตย์นี้เราได้ขอเพลงของ วินัย อุกฤษณ์ ผู้หนีออกจากเมืองไปอยู่เกาะแถวๆ เกาะลันตาแล้วไม่ออกจากเกาะเลย โดยซึมซับเพลงชาวเกาะ สะท้อนความเป็นหมู่เกาะออกมาชื่อ “เพลงบูบู” มาแสดงด้วย รวมทั้ง “เพลงนกสีเหลือง” ที่มีบทบาทสำคัญกับเหตุการณ์ 6 ตุลามาก

Advertisement

รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า เพลงสำคัญอีก 2 เพลงคือ “โยสลัม” ซึ่งเป็นเพลงโปรตุเกสที่โบราณมาก อย่างไรก็ดี เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 เสด็จประพาส จ.ภูเก็ต ทรงพระราชนิพนธ์เพลงโยสลัม โดยใช้ทำนองยวนยาเหล นอกจากนี้ ยังมีเพลงอื่นๆ ที่นำทำนองโยสลัมมาใช้ เช่น เพลงน้ำตาโนราห์ เพลงชุมทางเขาชุมทอง เพลงเกลียดห้องเบอร์ห้า

“สุดท้ายที่สำคัญมากๆ คือเพลงของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผมนำเพลงทะเลชีวิต และแสงดาวแห่งศรัทธา มาทำด้วยวงออเคสตราแล้วให้คนสมัยใหม่ร้อง พร้อมกันนี้ ไข่ มาลีฮวนนา จะขึ้นเครื่องบินมาจากภาคอีสานแล้วขึ้นแสดง ‘เพลงแสงจันทร์’ ทันที ดังนั้น งานวันอาทิตย์นี้จึงเป็นที่ชุมนุมของศิลปินใหญ่ แสดงเพลงของสุจิตต์ ผลงานเนาวรัตน์ ผลงานวินัย ผลงานไข่ มาลีฮววนน่า สิ่งเหล่านี้คิดว่าเป็นเรื่องสนุก” รศ.ดร.สุกรีกล่าว

เมื่อถามถึงกระแสดนตรีในสวนที่ผ่านมา ผู้ตอบรับดีขนาดไหน?

รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า เยอะนะ ความจริงผมเล่นดนตรีโดยไม่สนใจผู้ชมได้ คิดว่า 1.เป็นโอกาสให้นักดนตรีมีเวทีได้เล่น 2.เป็นดนตรีที่เล่นด้วยความตั้งใจ ผู้ฟังเขาประทับใจก็นั่งอยู่ สมมุติมา 200 คน ก็นั่งอยู่ 200 คน มา 300 คน ก็อยู่ 300 คน ถามว่าเยอะไหมก็ไม่มาก แต่ถามว่าเขาประทับใจไหม ทุกคนก็มาทุกอาทิตย์

รศ.ดร.สุกรีกล่าวด้วยว่า แต่เนื่องจากเราทำเอง จัดเอง หาเงินเอง ชวนเพื่อนคนนั้นคนนี้มา ช่วยออกค่าดนตรี ค่าเครื่องเสียง ทำเอาเอง แล้วก็อาศัยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเขาเป็นเจ้าภาพ เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ตรงนั้น ให้ความอนุเคราะห์เต็มที่

ภาพโดย Princess Galyani Vadhana Institute of Music

ส่วนการแสดงดนตรีในสวนอีก 2 สัปดาห์ที่เหลือ รศ.ดร.สุกรีกล่าวว่า แสดงที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาเหมือนกัน สัปดาห์หน้าเป็นวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลปากรเป็นต้นแบบ “เพลงของชาติ” ทั้งหลาย ได้เรียนหัวหน้าวงไปว่าขอเพลงที่มีความสำคัญของชาตินำมาเล่น ส่วนสัปดาห์สุดท้ายเป็นวงซิมโฟนีของ กทม.เอง ที่ส่วนใหญ่ไปเล่นงานฟรี ผมชักชวนมา พร้อมเสนอให้นำเพลงของครูเพลงที่เสียชีวิตเกิน 50 ปีมาเล่น อาทิ เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน เพลงของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เพลงของครูสุรพล สมบัติเจริญ

สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรม “ดนตรีในสวน เพลงชาวบ้าน” ที่สวนหลวงพระราม 8 จะจัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 17.30-19.00 น. สามารถเดินทางด้วยรถส่วนตัวแล้วจอดที่อาคารของมูลนิธิชัยพัฒนา หรือลานของ กทม. ข้างๆ สะพานพระราม 8 ที่จอดได้หลักร้อยคัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image