นักวิชาการเห็นพ้องใช้ ม.44 ปลดล็อคเก็บค่า ‘บำบัดน้ำเสีย’ ในกรุง

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ตัวแทนอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เข้าพบ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหาชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร หารือเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือให้คณะผู้บริหาร กทม.ทบทวนอัตราการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย

น.ส.ดาว แสงสุวรรณ จั่นเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมจ่าย เพราะทุกคนต่างได้ประโยชน์ และไม่ควรเก็บเฉพาะ 8 พื้นที่ตามที่กำหนดเท่านั้น และเพื่อความยุติธรรมในการเก็บค่าธรรมเนียมจะต้องใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือ Polluter Pays Principle (PPP) รวมทั้งเก็บค่ากำจัดมลพิษจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย เนื่องจากในหลายประเทศได้ใช้หลักการคิดค่าปล่อยมลพิษ (Pullution free) ด้วย

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ไม่ควรเก็บค่าบำบัดน้ำเสียเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ต้องมีการจัดเก็บทุกจังหวัดทั่วประเทศ และหากจำเป็นต้องอาศัยอำนาจมาตรา 44 รัฐบาลก็ต้องใช้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

นางสุทธิกมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.กล่าวถึงสาเหตุที่มีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียเพียง 8 พื้นที่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า กทม.จะสามารถจัดเก็บค่าบริการได้ต่อเมื่อมีการให้บริการ ซึ่งขณะนี้ กทม.มีโรงบำบัดน้ำเสียเพียง 8 โรง ใน 8 พื้นที่เขตเท่านั้น ที่สำคัญ เคยมีการศึกษาแนวทางให้การประปานครหลวง (กปน.) เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แต่ติดข้อกฎหมายเช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image