ลบมายาคติ ‘งานหนักไม่เคยฆ่าใคร’ WHO เผยสถิติ 7.4 แสนคน จบชีวิตเพราะเวิร์กฮาร์ด

จริงหรือ ‘งานหนักไม่เคยฆ่าใคร’ ทั่วโลก 7 แสนคน จบชีวิตเพราะเวิร์กฮาร์ด แนะเช็กสัญญาณก่อนสายเกินไป

นับเป็นข่าวเศร้า ที่กระตุกให้ทุกคนหันมาสนใจคุณภาพชีวิตของคนทำงานมากขึ้น หลังจากที่เพจ จอดับ ได้โพสต์เล่าเหตุการณ์ คนทำงานเบื้องหลังคนหนึ่ง ที่เสียชีวิต หลังจากต้องทำงานหนัก เกินเวลา บางสัปดาห์ต้องทำงาน 7 วัน

โดยว่า บางครั้งได้ลาหยุด ลาป่วย ได้เพียง 1-2 วัน ก็ถูกโทรเรียกให้กลับมาทำงาน กระทั่ง ฟุบลงกับโต๊ะ เสียชีวิตโดยไม่มีคนรู้

เรื่องราวดังกล่าว นับเป็นอุทธาหรณ์ในเรื่องการทำงาน ในโลกทุนนิยม ที่ต่างถูกขับดัน ให้ผลิตผลงานมากๆ มีผลงานดีๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นดังกล่าว

 

Advertisement

งานหนักคร่าชีวิตคน 7 แสนกว่าคนต่อปี

แม้ว่าจะมีคำกล่าวที่ว่า การทำงานหนัก ไม่เคยฆ่าใคร หรือ ไม่เคยมีใครตายเพราะทำงานหนัก แต่ตัวเลขสถิตินั้น พิสูจน์ออกมาแล้ว ว่าเป็นเรื่องจริง

จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุไว้ว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป ทำให้มีคนกว่า 745,000 ราย เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และ โรคหัวใจขาดเลือด ในปี 2016

ซึ่งเพิ่มมากขึ้นถึง 29% จากปี 2000

Advertisement

ทำงานหนัก เสี่ยงดับเพราะโรคหัวใจ เพิ่มขึ้น 42%

และจากการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ และการสูญเสียชีวิต ที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นเวลานาน WHO และ ILO ประมาณการว่า ในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 398,000 คน และโรคหัวใจ 347,000 คน

จากการทำงานอย่างน้อย 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

และจากตัวเลข ก็แสดงให้เห็นว่า โรคหัวใจ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42% ขณะที่ โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 19%

ผู้ชาย เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าหญิง

ข้อมูลจาก WHO ยังเปิดเผยอีกว่า ภาวะการทำงานหนักนี้ ส่งผลกับผู้ชายมากกว่าหญิง โดย 72% ของการเสียชีวิต เกิดขึ้นกับผู้ชาย และยังส่งผลกับผู้คนในภูมิภาค แปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึง คนทำงายวัยกลางคนขึ้นไป

จากข้อมูลพบว่า กลุ่มคนที่เสียชีวิตมากที่สุด อยู่ระหว่างอายุ 60-79 ปี ซึ่งทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ในช่วงอายุ 45-74 ปี

ผลการศึกษายังบอกด้วยว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยง ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 35% และ ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับการทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ซึ่ง WHO ระบุด้วยว่า รัฐบาลมีส่วนสำคัญในการช่วยแรงงานในเรื่องนี้

 

อะไรคือสัญญาณ ว่าคุณทำงานหนักมากเกินไป

นอกจากชั่วโมงการทำงานที่มาก หรือปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรมจนหนักแล้ว เราสามารถสังเกตตัวเอง ก่อนที่จะช้าเกินแก้ ซึ่ง โรงพยาบาลพญาไท ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ถึงสัญญาณการทำงานหนัก ดังนี้

1.โรคภัยมาก
การทำงานหนักจนเกินไปสามารถทำให้เราป่วยได้ เพราะเมื่อใดที่คุณทำงานหนักมากเกินไป ร่างกายของเราก็จะอ่อนแอลง ทำให้เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะในที่ทำงานซึ่งเป็นแหล่งที่สะสมของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ไว้มากแห่งหนึ่ง โดยอาการของโรคตึกเป็นพิษได้แก่ อ่อนล้า ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา และมีความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น และหากละเลยไว้นานก็จะยิ่งทำให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

2.อ้วน
การนั่งเป็นเวลานานติดต่อกันวันละหลายชั่วโมงนั้น มีผลกระทบกับระบบการเผาผลาญอาหาร เพราะการเผาผลาญจะน้อยลงเมื่อเรานั่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อ้วน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด

3. ยิ่งงานมาก ยิ่งปวดมาก
ผู้ที่ต้องยืนทำงานเป็นเวลานานมักจะเกิดอาการปวดที่หลัง ไหล่ คอได้ และแม้นั่งทำงานก็อาจจะเกิดอาการเหล่านี้ได้ เนื่องจากเป็นการนั่งที่ผิดลักษณะ เช่น การนั่งก้มมองจอคอมพิวเตอร์ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรัง รวมถึงอาการปวดข้อมือจากการที่เราพิมพ์คีย์บอร์ดมากเกินไปอีกด้วย ซึ่งหากอาการเหล่านี้เราทิ้งเอาไว้นาน อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้

4. สายตาจะพัง
การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป อาจทำให้เกิดโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งจะทำให้ดวงตามีปัญหาเรื่องการมองเห็น โดยจะเริ่มจากอาการตาแห้ง ปวดหัว คอ ไหล่ และอาจจะทำให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ ซึ่งวิธีป้องกันโรคนี้ก็คือการละสายตาจากคอมพิวเตอร์แล้วหันไปมองต้นไม้ใบหญ้าสีเขียว เพื่อเป็นการผ่อนคลายสายตา

5. ความเครียดรุมเร้า
การทำงานหนักเกินไป อาจนำพาอารมณ์เครียดมาให้เราได้ ซึ่งความเครียดเหล่านั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว อ่อนล้า คลื่นไส้ และอารมณ์เกรี้ยวกราด นอกจากนี้ความเครียดยังทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลงอีกด้วย

6.ความสัมพันธ์ยิ่งแย่
จากการทำงานภายใต้ความเครียด และความกดดันนั้น จะส่งผลลบต่อความสัมพันธ์นอกออฟฟิศ

 

แนะจัดเวลาแบบ 8+8+8

สสส. ได้แนะนำ เคล็ดลับ ใช้ชีวิตให้สมดุล ดังนี้

8 ชั่วโมงแรก – ใช้เพื่อพักผ่อนที่บ้าน
8 ชั่วโมงที่ 2 – ใช้เพื่อทำงานให้เต็มที่
8 ชั่วโมงที่ 3 – ใช้เพื่อเดินทางและทำกิจกรรมอื่นๆ

โดยสามารถยืดหยุ่น หยิบยืมด้านอื่นๆ มาใช้ร่วมกันได้ เช่น หากพรุ่งนี้ต้องการเวลาทำงานมากขึ้น 2 ชั่วโมง ก็อาจลดเวลาส่วนการเดินทาง หรือ กิจกรรมของวันก่อนหน้า 2 ชั่วโมง แล้วนอนให้เร็วขึ้น หรือ ตื่นเช้าไปทำงานเร็วขึ้น 2 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณ Burnout Syndrome อาการของคน เบื่องาน หมดไฟ และวิธีจัดการ

“ภาวะหมดไฟ” ไม่ใช่โรค แต่ต้องรักษาก่อนลุกลามสุขภาวะจิตใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image