กทม. คุยผู้ประกอบการถนนข้าวสาร คุมระดับเสียง ติดตั้งเครื่องวัด ขีดเส้น 15 วันก่อนเข้มใช้กม.

กทม.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการถนนข้าวสารควบคุมระดับเสียง หลังได้รับร้องเรียน ให้เวลาปรับปรุง 15 วัน ก่อนดำเนินการตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาเหตุเดือดร้อนจากการเปิดเพลงหรือแสดงดนตรีเสียงดัง โดยมี นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.นิตินันท์ เพชรบรม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ผู้แทนสถานประกอบการถนนข้าวสาร 30 ราย ผู้แทนชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียงถนนข้าวสารว่า ได้รับเหตุเดือดร้อนจากการเปิดเพลงหรือแสดงดนตรีเสียงดัง วันนี้จึงประชุมร่วมกับ บชน. สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สถานประกอบการถนนข้าวสาร และผู้แทนชุมชน เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมมีฉันทามติร่วมกันในการขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการประเภท ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มควบคุมระดับเสียงเพลง หรือการแสดงดนตรีที่ดัง โดยให้ปรับปรุงแก้ไขภายใน 15 วัน ประกอบด้วย

1.สถานประกอบกิจการที่เปิดเพลงหรือแสดงดนตรีควรเป็นอาคารที่ปิดมิดชิด ผนังต้องทำด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันเสียงดังและความสั่นสะเทือนอย่างมีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนแก่ผู้พักอาศัยข้างเคียง

Advertisement

2.ควบคุมระดับเสียงภายในสถานประกอบการ โดยค่าเฉลี่ยของระดับเสียงตลอดระยะเวลาทำการต้องมีค่าไม่เกิน 90 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงสูงสุด ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่เกิน 110 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงที่ดังถึงชุมชนต้องไม่เกิน 10 เดซิเบลเอ

3.ในระหว่างเวลาทำการ ต้องมีการหยุดหรือลดระดับเสียงจากการแสดงดนตรีหรือการเปิดเพลง เป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการพักจากการสัมผัสเสียงดัง

4.ห้ามติดตั้งลำโพงด้านหน้าหรือนอกอาคารสถานประกอบกิจการของตน เพื่อป้องกันเสียงดังรบกวนผู้พักอาศัยข้างเคียง

Advertisement

5.ให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับเสียงและแสดงผลการตรวจวัดผ่านทางจอแสดงผล เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ทราบถึงระดับเสียงในขณะนั้น และสามารถพิจารณาการป้องกันตัวเองได้

ทั้งนี้ หากพ้นกำหนดแล้วสถานประกอบการใดที่ไม่ทำการปรับปรุง กรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดโดยความเห็นชอบของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

ทั้งนี้ ที่ประชุมรายงานข้อมูลสถานประกอบการในพื้นที่ถนนข้าวสาร ประเภทการประกอบกิจการ สถานที่จำหน่ายอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป จำนวน 6 ราย สถานที่จำหน่ายอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร จำนวน 35 ราย กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการจัดให้มีการแสดงดนตรี จำนวน 6 ราย สถานประกอบการที่ไม่เข้าข่าย ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 จำนวน 6 ราย สถานบันเทิง ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 จำนวน 2 ราย สถิติเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ถนนข้าวสาร เดือน ต.ค.65 จำนวน 4 ครั้ง เดือน พ.ย.65 จำนวน 5 ครั้ง เดือน ธ.ค.65 จำนวน 4 ครั้ง เดือน ม.ค.66 จำนวน 2 ครั้ง

ผลการสำรวจแหล่งกำเนิดเสียง (ลำโพง) ในพื้นที่ถนนข้าวสาร จำนวน 30 ร้าน จากทั้งหมด 47 ร้าน จำนวนลำโพงทั้งหมด 240 ตัว แบ่งเป็น 1.จำแนกขนาดลำโพง (วัตต์) ได้ จำนวน 168 ตัว 2.ไม่สามารถจำแนกขนาดลำโพง (วัตต์) ได้ จำนวน 72 ตัว เนื่องจากความเก่าติดตั้งอยู่ที่สูง และติดผนังขยับไม่ได้ สำหรับขนาดลำโพง (วัตต์) แบ่งเป็น ต่ำกว่า 100 วัตต์ จำนวน 15 ตัว ไม่เกิน 1,000 วัตต์ จำนวน 86 ตัว 1000 วัตต์ขึ้นไป จำนวน 53 ตัว 2,000 วัตต์ขึ้นไป จำนวน 12 ตัว และ 3,000 วัตต์ขึ้นไป จำนวน 2 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.พ.66)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image