หนุน ‘แม่วัยใส’ เรียนต่อ เสริมรู้เพศศึกษา สกัด‘ท้องไม่พร้อม’

#สกู๊ปหน้า1 หนุน‘แม่วัยใส’เรียนต่อ เสริมรู้เพศศึกษา สกัด‘ท้องไม่พร้อม’

ปัญหา “แม่วัยใส” ยังคงทวีความรุนแรง แม้สถิติจะลดลงต่อเนื่อง จากข้อมูลปี 2553 ตัวเลขแม่วัยใสอยู่ที่ 120,000 คน ในจำนวนนี้มีแม่วัยใสที่อยู่ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น อายุระหว่าง 10-14 ปี กว่า 3,700 คน ล่าสุด ปี 2563 พบแม่วัยใสประมาณ 56,000 คน ในจำนวนนี้มีแม่วัยใสที่อายุระหว่าง 10-14 ปี กว่า 1,783 คน

แม้ตัวเลขจะลดลงตามลำดับ แต่ภาพรวมปัญหายังคงมีอยู่ เป็นประเด็นสังคมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไล่จากปัญหาครอบครัวยากจน ความรุนแรง ยาเสพติด มาสู่ปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มแม่วัยใส…

เมื่อเร็วๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษา และการดําเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 โดยคงสาระสำคัญ แต่ปรับข้อความในวรรคหนึ่ง ข้อ 7 เป็น “ให้นักเรียน หรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียน หรือนักศึกษาออกจากสถานศึกษา เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา ตามความประสงค์ของนักเรียน หรือนักศึกษา”

ทั้งนี้ เพื่อให้มีความชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่ท้อง มักจะถูกผลักออกจากระบบการศึกษาแบบเนียนๆ คือ ถูกครูและผู้บริหาร กดดัน เพราะกังวลว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็กกลุ่มอื่นๆ สุดท้ายต้องลาออกกลางคัน หรือย้ายไปเรียนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

Advertisement

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายว่า กฎกระทรวงที่ออกมาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการปรับแก้ เพิ่มเติมรายละเอียด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และชัดเจนขึ้นในทางปฏิบัติ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพราะก่อนหน้านั้นจะมีระเบียบห้ามนักเรียน นักศึกษา ที่มีครอบครัว หรือมีบุตร เข้าเรียนในสถานศึกษา แต่เมื่อปัญหาแม่วัยใสรุนแรงขึ้น จึงคิดว่าการผลักเด็กออกนอกระบบการศึกษา ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง

ดังนั้น จึงเข้ามาดูแล และออกมาตรการแก้ไขปัญหา คือให้เรียนที่โรงเรียนเดิม หากเด็กไม่สามารถทนต่อสังคมในโรงเรียนได้ ก็จะดำเนินการย้ายโรงเรียน หรือให้ไปเรียน กศน. โดยทั้งหมดต้องผ่านการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน และครู

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะไม่กำหนดวิธีที่ตายตัว ต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพครอบครัวของเด็กด้วย บางรายครอบครัวยากจน ไม่สามารถให้เด็กเรียนอยู่ที่เดิมได้ เพราะทนกระแสสังคมไม่ไหว ขณะที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดูแลเด็กที่กำลังจะเกิดขึ้นมา ดังนั้น การแก้ปัญหาทุกอย่าง ต้องเป็นการตกลงร่วมกัน โดยเอาประโยชน์ของเด็กที่ตั้งครรภ์ และเด็กที่กำลังจะเกิดมาเป็นตัวตั้ง สถานการณ์ขณะนี้ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่สังคมไม่ยอมรับเด็กกลุ่มนี้ กลายเป็นสภาวะปกติที่สังคมพอจะเข้าใจ รับได้ และเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหามากขึ้น” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

Advertisement

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ นอกจากมีกฎระเบียบออกมาควบคุมให้ชัดเจนขึ้นแล้ว สพฐ.ยังมองไปข้างหน้า คือการ “ป้องกัน” ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายเข้ามาดูแลแล้ว จะมองเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยอันควร และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และต้องเร่งให้ข้อมูล โดยแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มเด็กเรียน ไม่มีปัญหา กลุ่มที่มีปัญหาครอบครัว

ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม และกลุ่มที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ซึ่งอาจไม่สามารถห้ามเด็กได้ ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกับทางสาธารณสุขในการให้ข้อมูล วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาท้องก่อนวัยอันควร แต่ถ้าสุดท้ายแล้วเกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องเข้าสู่มาตรการดูแล และให้ความช่วยเหลือต่อไป

ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวคล้ายกันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาโรงเรียนส่วนใหญ่จะเข้าไปช่วยเด็กแก้ปัญหา ใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้เด็กได้จบการศึกษา ไม่ได้ไล่เด็กออก เพราะเท่ากับเป็นการซ้ำเติม หลักการสำคัญต้องทำความเข้าใจกับสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพราะบางครั้งเด็กบางรายถูกล่วงละเมิด ไม่ใช่ตั้งครรภ์เพราะความคึกคะนอง

“รากฐานของปัญหาจริงๆ ต้องให้ความรู้ทั้งเรื่องของความเหมาะสม กฎหมาย กรณีถูกล่วงละเมิด ที่สำคัญต้องนำเรื่องการมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมาคุยกันบนโต๊ะให้ได้ สุดท้ายต้องให้เด็กรู้จักวิธีป้องกัน และถ้าเลยเถิดจนตั้งท้องจริงๆ โรงเรียนต้องนำเข้าสู่ระบบดูแลเด็ก ซึ่งสมัยนี้สามารถปรับวิธีจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของเด็กได้ เช่น เรียนออนไลน์ เป็นต้น คนที่จะมีปัญหาคือ คนรุ่นเก่า ที่ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” ดร.วิสิทธิ์กล่าว

ย้อนมาในส่วนของข้อมูลจากสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า “คุณแม่วัยใส” หรือหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปีที่ตั้งครรภ์ สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลปี 2554-2555 มีจำนวนการให้กำเนิดทารกจากแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สูงที่สุดถึง 120,000 คน กระทั่งผ่านมา 10 ปี ข้อมูลล่าสุด ปี 2564 ลดลงเหลือ 47,000 คน

ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกฎกระทรวง “เด็กท้องต้องได้เรียน ห้ามโรงเรียนไล่นักเรียนออก” นั้น นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์

ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ เห็นว่าเป็นทางออกที่ถูกต้องแล้ว เพราะช่วงก่อนที่จะออก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อปี 2559 เราพบปัญหาว่า หากมีเด็กตั้งครรภ์ โรงเรียนก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม และเด็กส่วนมากต้องออกจากการศึกษา โดยกรมอนามัยเคยทำข้อมูลการเฝ้าระวังแม่วัยรุ่น เพื่อถามเด็กวัยรุ่นที่มาฝากครรภ์ว่า เมื่อท้องแล้วได้เรียนต่อหรือไม่ พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือเมื่อปี 2559 คุณแม่วัยใสได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมเพียงร้อยละ 13 จากจำนวนทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งก็ลาออก หยุดเรียนไป หรือย้ายไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งแท้จริงเด็กที่ตั้งครรภ์ก็มีความยากลำบากในชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้น หากขาดวุฒิการศึกษา ก็จะส่งผลกระทบต่อการเข้าทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองกับลูกด้วย

“ฉะนั้น ทุกหน่วยงานจึงเห็นตรงกันว่า ในวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อย่างน้อยชีวิตเขาพลาดไปแล้ว เราควรเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ ได้กลับมาเรียนหนังสือ เพื่อเป็นต้นทุนในชีวิตของเขา เพื่อสามารถเลี้ยงดูตัวเองและลูกได้” ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์กล่าว

ขณะที่ “คนอง ตนเล็ก” ผู้อำนวยการโรงเรียนวชิราลัย อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มองว่า กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี พร้อมรับปฏิบัติ เพื่อให้โอกาสเด็กได้ศึกษาต่อเนื่องจนจบหลักสูตร หรือสำเร็จการศึกษา พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น พร้อมให้เด็กได้ทบทวนและแก้ไขพฤติกรรมท้องในวัยเรียน เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยสมควร

เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีในวันข้างหน้าแนวทางปฏิบัติกรณีนักเรียนตั้งครรภ์ จะเชิญผู้ปกครองมาพบเพื่อหารือเรื่องการเรียน อาจให้เรียนออนไลน์ที่บ้าน โดยครูสั่งงาน และสอบเก็บคะแนนแทน ซึ่งนักเรียนต้องใส่ใจ รับผิดชอบการเรียนดังกล่าว โดยมีครูอาจารย์คอยติดตาม แนะนำและประเมินผลการเรียน เป็นระยะ เพื่อให้เรียนจบตามหลักสูตร ไม่เสียเวลา และต่อยอดไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น

ที่สำคัญครูต้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เงียบ เพื่อไม่ให้กระทบเด็กจากการถูกใส่ร้าย หรือบูลลี่จนเกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงเรียนได้สอนเรื่องเพศศึกษาระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา ถือเป็นเรื่องจำเป็นให้รู้จักป้องกันตัวเอง ไม่ให้ท้องในวัยเรียน เหมือนกับหลักสูตรในต่างประเทศที่สอนการป้องกันตั้งแต่เด็ก ส่วนผู้ปกครองต้องใกล้ชิด เอาใจใส่ ดูแลบุตรหลานไม่ให้เดินในทางที่ผิดจนเสียอนาคต ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระโรงเรียนเท่านั้น

“กฎกระทรวงดังกล่าวแม้เป็นการปกป้อง คุ้มครองสิทธิเด็ก แต่ควรให้โรงเรียนพิจารณาเป็นรายไป หากเด็กไม่อยากเรียนต่อ หรือลาออกกลางคัน เพื่อไปมีครอบครัว หรือทำงานเลี้ยงลูก โรงเรียนก็ไม่สามารถบังคับได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจนักเรียนเอง ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือ ป้องกันท้องในวัยเรียน และเรียนรู้เพศศึกษา เพื่อวิเคราะห์ แยกแยะ ใช้เหตุผล ว่าเรื่องไหนสมควรหรือไม่สมควร ที่สำคัญเด็กต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง หรือเก็บอวัยวะเพศไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เพื่อป้องกันเรื่องดังกล่าวด้วย” ผอ.โรงเรียน
วชิราลัยกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้น การทำความเข้าใจ และพยายามช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ให้เดินหน้าต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องร่วมมือกัน…

และสำคัญที่สุดคือ มาตรการป้องกัน ให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา หากมีเซ็กซ์แบบไม่ป้องกัน ให้ชัดเจนขึ้น ดีกว่าต้องตามมาแก้ไขกันทีหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image