ชัชชาติ รับ ปัญหาหนักมาก รถดับเพลิง 840 คันใช้งานไม่ได้เกินครึ่ง อุปกรณ์พังเกิน 50%

ชัชชาติ สัญจร สปภ. เตรียมปรับปรุง- สร้างสถานีดับเพลิงเพิ่มเติม พร้อมปรับเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขตราชเทวี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมติดตามผลการดำเนินงาน ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”

นายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) มีความสำคัญ เพราะว่ารับผิดชอบเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ และมีหน้าที่จิปาถะเยอะแยะ ถ้าดูจากตัวเลขที่ช่วยเหลือประชาชนเฉลี่ยวันละ 150 เรื่อง เช่น จับงู จับตัวเงินตัวทอง ช่วยเหลือคนกระโดดตึก ไฟไหม้ รวมถึงอุบัติภัยต่างๆ

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับปัญหาหลักของ สปภ.ที่พบ เรื่องแรกคือ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 2,000 คน ซึ่งมีไม่เพียงพอ รวมทั้งอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับอัตราของเมืองตามมาตรฐานสากล

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ประมาณ 60,000 คน มีอาสาสมัครตามมูลนิธิต่างๆ ประมาณ 7,000 คน หลังจากนี้คงต้องมีการทำงานร่วมมือกันให้เกิดประสิทธิภาพของ 3 หน่วยงาน เช่น จัดการอบรมร่วมกันเพื่อให้กำลังพลทั้ง 3 ส่วนงานนี้ทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน ในการบริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและต้องมีการวางแผนระยะยาว

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือ ปัจจุบันอุปกรณ์และเครื่องมือเกินกว่า 50% ชำรุดเสื่อมสภาพที่ใช้งานได้ก็ไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาหนักมาก เช่น รถดับเพลิง 840 คันก็ใช้งานไม่ได้กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเสียหายตั้งแต่สมัยรับโอนมาจากตำรวจ หรือจากการจัดซื้อครั้งใหญ่ รถที่มีบันไดสูงใช้งานไม่ได้ ซึ่งต้องพยายามจัดหาเพิ่มเข้ามา โดยปีนี้ก็จะมีการจัดซื้อรถกู้ภัยเข้ามาเพิ่มเติมอีก 15 คัน

“ส่วนประเด็นใหญ่ คือรถดับเพลิง ที่ยังจอดค้างอยู่ในบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด จำนวน 139 คัน ซึ่งเป็นรถเก่าประมาณ 10 กว่าปี เป็นเรื่องค้างตั้งแต่สมัยที่มีการทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิงครั้งที่แล้ว ซึ่งมีปัญหาเรื่องค้างค่าเช่าที่จอดรถมูลค่าพันล้านบาท ขณะนี้เรื่องอยู่ในการพิจารณาของชั้นศาล อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ยังขาดอยู่ ก็มีอยู่ในแผนที่ต้องดำเนินการจัดซื้อเพิ่มได้ย้ำในเรื่องความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผอ.สปภ. กล่าวเสริมว่า สำหรับรถดับเพลิงที่ กทม.ได้จัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2547 แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจำนวน 176 คันได้นำออกมาซ่อมใช้แล้ว อีกส่วนยังจอดไว้บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำนวน 139 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างฟ้องร้องคิดค่าจอด ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลฎีกาตัดสิน ถึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากรถที่ยังอยู่ในระหว่างคดีมีอายุกว่า 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่กังวลถึงสภาพของรถหากจะนำกลับมาใช้งานนั้น ดังนั้น จึงต้องคิดให้รอบคอบอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องสถานที่ ปัจจุบันมีสถานีดับเพลิงหลัก 37 แห่ง และมีสถานีย่อย 11 แห่ง ถือว่าการกระจายตัวยังไม่ดี คิดเป็น 1 สถานีให้บริการประมาณ 32 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลพื้นที่มากกว่าในเมืองใหญ่ หลายเมืองทั่วโลก จึงต้องมีการพยายามปรับปรุงและเพิ่มจำนวน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มสถานีขึ้นมาอีก 4 สถานี และมีการปรับปรุงสถานีเก่าให้ดีขึ้นอีก 8 สถานี รวมทั้งยังมีโครงการทำศูนย์ฝึกอบรม เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมต่างๆ ทั้งในการอบรมบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ให้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน และอาจให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมในระดับภูมิภาค เบื้องต้นได้มีการปรึกษากับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อดำเนินการจัดทำศูนย์อบรมแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ยกตัวอย่างสถานที่นี่ Headquarter ซึ่งมีปัญหาพื้นที่กับทางตำรวจ ที่ยังไม่ส่งมอบพื้นที่คืนมา เห็นว่าสภาพยังไม่สามารถพัฒนาได้เต็มพื้นที่ สำหรับการสร้างสถานีดับเพลิงริมน้ำ ยังไม่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม แต่จะมีการส่งเสริมให้มีเครื่องหาบหามน้ำตามชุมชนริมน้ำ ที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ใน ชุมชนบ้านครัว ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ซึ่งเขาต้องการเครื่องหาบหามน้ำ ที่สามารถดูดน้ำฉีดดับเพลิงได้ทันที ทั้งนี้แบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ ดูแลความพร้อมชุมชนริมน้ำ ต่อมาสถานีดับเพลิงริมน้ำ ต้องดูความจำเป็นในแต่ละพื้นที่” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการปรับเบี้ยเสี่ยงภัยให้กับเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน ของการทบทวนอยู่ว่าจะทำอย่างไร ให้เหมาะสมและปรับให้เสมอกันกับการเสี่ยงภัยและงานที่มีความเสี่ยงทางด้านต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image