แห่ร้องเรียนทุจริต กทม.ยัน รับไม่ได้ เชือดไก่โชว์ลิงแน่ สถานทูตอังกฤษ-เครือข่ายสากล ร่วมด้วย

กทม.เดินหน้าสร้างความโปร่งใส หลังเปิดศูนย์ต่อต้านทุจริต 2 สัปดาห์ มีคนร้องกว่า 30 เรื่อง พร้อมจัดการคนโกง “เชือดไก่ให้ลิงดู”

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการแถลงข่าว กรุงเทพมหานครโปร่งใส โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กทม. รวมถึงตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และเครือข่ายด้านการต่อต้านทุจริตสากล เข้าร่วม

นายชัชชาติ กล่าวว่า ความโปร่งใสเป็นเรื่องแรกที่ กทม.ต้องจัดการ เหมือนสำนวนที่ว่า Elephant in the room คือ ช้างที่อยู่ในห้อง บางครั้งเราทำเป็นไม่สนใจมัน แต่ถ้าไม่สนใจวันหนึ่งช้างจะเหยียบเราตาย ดังนั้น เรื่องความโปร่งใสเป็นเรื่องที่ กทม.ต้องทำให้กระจ่างชัด เพื่อสร้างความไว้ใจจากประชาชนกลับคืนมา เป็นพลังพัฒนาด้านต่างๆต่อไป

“ที่ผ่านมา กทม.ขาดความไว้ใจซึ่งกันและกัน อาจเป็นเพราะ กทม.ขาดความโปร่งใส หากสร้างความโปร่งใสได้เชื่อว่าจะมีประโยชน์ด้านการสร้างความไว้วางใจ การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีงบประมาณเหลือไปทำโครงการต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อไป

Advertisement

วันนี้เป็นก้าวแรกของการเดินทางอีกยาวไกล คงไม่ใช่ว่าวันนี้ทุกๆอย่างมันจะเปลี่ยนไปได้เลย จึงอยากจะเชิญชวนทุกคนมาเดินร่วมกัน เพื่อให้เรามีศักดิ์ศรี ที่ประชาชนมอง กทม.ด้วยความชื่นชมและมีความไว้วางใจกัน” นายชัชชาติกล่าว

นายศานนท์ กล่าวว่า การทุจริตคอรัปชั่นทำให้ กทม.เสียโอกาสทุกอย่าง เพราะเป็นภาษีประชาชน ทำให้เสียความเชื่อมั่นจากประชาชน ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างได้ของที่ไม่มีคุณภาพ ประชาชนถูกเอาเปรียบ ส่วนตัวมองว่าทำให้เสียหายทุกด้าน เช่น แทนที่จะได้ของที่ดีมาใช้ กลับได้ของคุณภาพต่ำ เพราะเงินส่วนหนึ่งไปเข้ากระเป๋าคนทุจริต ดังนั้น เรื่องนี้ไม่สามารถยอมรับได้ การป้องกันเบื้องต้น เน้นการตรวจสอบติดตาม รวมถึงการเปิดเผยสัญญาต่างๆ ที่สำคัญคือ ต้องทำให้การประกวดราคามีการแข่งขันมากขึ้นในวงกว้าง เพื่อคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีความสามารถมาช่วยกทม. ดังนั้น ต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสร้างการแข่งขันให้มากขึ้น

Advertisement

“การร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และเครือข่ายระดับสากล ทำให้เห็นว่า ต่างประเทศพบปัญหาทุจริตเหมือนกัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับการก่อสร้างที่ไม่สมเหตุสมผล จากการหารือกับเครือข่าย แนวทางแก้ไขคือ ควรทำความเข้าใจกับตลาดให้กว้างขึ้น ก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการใด อาจเริ่มจากให้ผู้รับเหมาทดลองทำในวงเงินน้อยก่อน เพื่อดูประสิทธิภาพ กทม.พยายามทำแบบนั้น แต่ยังไม่มีหลักการที่ชัดเจน ปัจจุบันกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมา” นายศานนท์กล่าว

ด้านนายต่อศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกทม.ผลกระทบจากปัญหาการทุจริตไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือความไว้ใจ หากประชาชนไม่ไว้ใจว่าเงินที่จ่ายให้ กทม.เพื่อไปดูแลเมือง จะถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง หากกทม.สร้างความไว้ใจแก่ประชาชนไม่ได้ ถือเป็นจุดตายของกรุงเทพฯ ปัจจุบัน กทม.พยายามสร้างความไว้ใจให้ได้ ตลอดเวลาที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใน กทม.มีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นและถูกดำเนินการไปจำนวนมาก ไม่ได้หมายความว่าการทุจริตเกิดขึ้นในยุคใดเป็นพิเศษ แต่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเริ่มไว้ใจที่จะแจ้งเรื่องทุจริต และหวังว่าจะเกิดการปรับปรุงแก้ไข สิ่งนี้ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม

” กทม.ได้รับเรื่องทุจริตที่แจ้งผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ วันละ 3-5 เรื่อง จากนั้นข้อมูลผู้แจ้งจะถูกเก็บเป็นความลับ อย่างไรก็ตาม ภายหลัง กทม.เพิ่มช่องทางในการร้องเรียนเรื่องทุจริต โดยร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ กทม.ได้รับการร้องเรียนเรื่องทุจริตมากกว่า 30 เรื่อง แต่ละเรื่อง กทม.พยายามลดขั้นตอนให้กระชับเพื่อจัดการกับผู้ทุจริตโดยเร็ว มองว่าจะทำให้คนที่ฝังตัวอยู่ในขบวนการทุจริตเกิดความกลัว คล้ายการเชือดไก่ให้ลิงดู

การดำเนินการกับการทุจริตโดยกระชับและรวดเร็ว สะท้อนภาพให้เห็นหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ บุคลากรทุกคนในกทม.จะมีความรัดกุมมากขึ้น เชื่อว่าการทุจริตจะลดลง ที่ผ่านมาการทุจริตอาจถูกมองข้ามมานาน แต่ปัจจุบัน ประชาชนลุกขึ้นมาสะท้อนปัญหาด้วยความกล้าหาญ ซึ่งบางคนต้องการให้เปิดเผยตัวตนโดยไม่กลัว ส่วนตัวถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการจัดการปัญหาทุจริต ทำให้เกิดความเกรงกลัวของเจ้าหน้าที่ ปัญหาทุจริตก็จะลดลง เมืองจะดีขึ้น” นายต่อศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image