สุจิตต์ ต่อไอเดียชัชชาติ ชี้ คลองเตยสร้างทับเมืองพระประแดงเก่า แนะขุดค้นซากหากย้ายท่าเรือ

สืบเนื่องกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า ภายหลังการเลือกตั้ง กทม. มีแนวคิดหลายเรื่องเตรียมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่รับพิจารณาเป็นนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีแนวคิดในการย้ายท่าเรือคลองเตยออกจากกรุงเทพ แต่กทม. ไมไ่ด้มีอำนาจนั้น

‘มติชนออนไลน์’ ชวนมาทำความรู้จักกับท่าเรือคลองเตย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ท่าเรือกรุงเทพ’ ซึ่งปัจจุบันมีลานวางตู้สินค้าขาเข้าที่กว้างถึง 147,600 ตร.ม. พร้อมกับคลังจัดเก็บสินค้าขาเข้า 15 คลัง และคลังจัดเก็บสินค้าขาออก 2 คลัง นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยศูนย์อำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน คลังสินค้าอันตราย หรือพื้นที่จัดเก็บตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมินอกจากหน้าที่หลักในการปฏิบัติการเรือขนส่งตู้สินค้าแล้ว ท่าเรือกรุงเทพยังสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าชนิดเทกอง พร้อมพื้นที่หน้าท่าสำหรับรองรับเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง อีกทั้งยังมีท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือโดยสารอีกด้วย

ย้อนไปในอดีต ท่าเรือคลองเตย มีประวัติยาวนาน โดย ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ระบุว่า ท่าเรือดังกล่าว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 เดิมเป็นสวน มีวัดโบราณ 4 วัด และเป็นพื้นที่เมืองพระประแดงเก่า เมืองสำหรับรักษาปากน้ำ ก่อนที่จะมีการนำชื่อพระประแดงไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์

ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบโต้กัน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ดั้งเดิมของท่าเรือคลองเตยว่า “…ที่ใต้ปากคลองเตยลงไปหน่อยเดียวมีวัดหน้าพระธาตุ มีศาลเจ้าพระประแดง… ทำให้คิดว่าเมืองพระประแดงเดิมตั้งอยู่ที่คลองเตย ไม่ใช่ที่ปากลัด…”

Advertisement

“เมืองพระประแดงนั้นเป็นเมืองตั้งเมื่อสมัยขอมครองเมืองละโว้ สำหรับรักษาปากน้ำ ปากน้ำในสมัยนั้นก็เรียกว่า ‘ปากน้ำพระประแดง’… ตัวเมืองพระประแดงตั้งที่ริมแม่น้ำฟากตะวันออก อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุและศาลเจ้าพระประแดงดังทรงพระดำริ และเคยเป็นเมืองมีปราการก่ออิฐ…”

ด้าน สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เผยว่า ท่าเรือกรุงเทพ นั้นซ้อนทับเมืองพระประแดงเดิม โดยสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระบุว่า เมืองพระประแดงเดิมอยู่คลองเตย มีวัดหน้าพระธาตุ, ศาลเจ้าพระประแดง มีการพบโบราณวัตถุต่างๆ

เมืองพระประแดง เดิม หรือคลองเตย อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองพระโขนง เป็นชุมชนเมืองร่วมสมัยเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยาราว 500 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นคือจุดที่เป็นท่าเรือคลองเตย

Advertisement

ท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) สร้างทับเมืองพระประแดง (คลองเตย) โดยรื้อวัดหน้าพระธาตุเหี้ยนหายไปทั้งวัด

สุจิตต์ กล่าวว่า ถ้าย้ายท่าเรือกรุงเทพฯ ออกไป สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดว่ามีเหลือซากเมืองพระประแดงเดิมตรงไหนบ้าง แล้วสงวนรักษาเท่าที่จำเป็น จากนั้นค่อยพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ

ด้าน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ระบใน เมืองพระประแดง : จากคลองเตยมานครเขื่อนขันธ์ จบที่อำเภอพระประแดง ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า บริเวณท่าเรือคลองเตยนั้นคือเมืองพระประแดงเก่า ก่อนจะนำชื่อเมืองไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ตั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2358 คืออำเภอพระประแดงในปัจจุบัน

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อธิบายว่า “ตำแหน่งเมืองพระประแดงก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ 23 อยู่ที่บริเวณท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน พอต่อในสมัยอยุธยาช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเมืองพระประแดงได้เลื่อนลงไปบริเวณปากอ่าวตรงตำแหน่งจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน…

อนึ่งการที่เมืองพระประแดงตั้งอยู่บริเวณคลองเตย อาจจะเป็นบริเวณพื้นที่แถบนั้นเป็นชุมทางคมนาคมที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ ทั้งนี้เพราะนอกจากจะดูแลปากน้ำเจ้าพระยาแล้วที่บริเวณใต้เมืองพระ ประแดงมีคลองเส้นสำคัญคือ คลองพระโขนงและคลองสํำโรง ซึ่งสามารถทะลุออกแม่น้ำบางปะกง ส่วนทางฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ใกล้ปากคลองดาวคะนอง ซึ่งเชื่อมกับคลองด่านที่จะออกไปมหาชัยได้… แต่อย่างไรก็ตามเมืองพระประแดงในสมัยอยุธยาไม่น่าที่จะมีบทบาทสูงมาก เพราะเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญสูงในบริเวณปากน้ำคือเมืองธนบุรี…

แผนที่บริเวณคลองเตย เมื่อ พ.ศ. 2453 ก่อนการก่อสร้างท่าเรือใน พ.ศ. 2480 ปรากฏวัดทั้ง 4 แห่ง คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย (ภาพจาก แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474)

สาเหตุสำคัญที่มีการย้ายเมืองพระประแดงลงไปจนถึงที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ คงจะเป็นเพราะพื้นที่บริเวณแถบปากน้ำ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้ขยายตัวพอที่จะตั้งชุมชนขนาดใหญ่ ถ้าเมืองพระประแดงซึ่งมีหน้าที่ดูแลปากแม่น้ำแต่อยู่ลึกเข้าไปถึงบริเวณคลองเตยดูก็จะไม่มีประโยชน์อันใด ประกอบกับคลองลัดโพธิ์ซึ่งเป็นคลองที่ช่วยร่นระยะการเดินทางโดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมคุ้งบางกระเจ้าและคลองเตย จึงทำให้เมืองพระประแดงที่คลองเตยไม่ใช่ยุทธศาสตร์ในการควบคุมดูแลเส้นทางคมนาคมทางแม่น้ำอีกต่อไป

เมื่อเมืองพระประแดงที่คลองเตยเริ่มหมดความสำคัญลง ประกอบจำนวนประชากรที่เบาบางเพราะผลกระทบของสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) จึงส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2314 มีการรื้อเอาอิฐกำแพงเก่าเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงและป้อมที่ธนบุรี…”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image