‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’เห็นแย้งมติ มส.กรณี’ธัมมชโย’ร้อง’ดีเอสไอ” ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ “สมเด็จช่วง-มส.-พศ.”

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา 13.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อม นพ.มโน เลาหวณิช อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอรับเรื่อง

นายไพบูลย์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุม มส. มีสมเด็จช่วงเป็นประธานการประชุม มีมติรับรองเห็นชอบรายงานตามที่รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เห็นว่า มส.ไม่สามารถดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากคดีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย สิ้นสุดในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว จึงถือว่าพระธัมมชโยไม่ได้อาบัติปาราชิก โดย มส.ไม่มีอำนาจยกมาพิจารณาเอง จึงเห็นว่ามติของ มส.ดังกล่าว เป็นการปฏิเสธที่จะดำเนินการตามที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งไปให้พิจารณาดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่อ้างว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตสิ้นสุดไปแล้วนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นกรณีที่นายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระธัมมชโยว่าล่วงละเมิดพระธรรมวินัยด้วยการบิดเบือนหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมถึงการยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน เรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.205 มาตรา 8 หลังจากปี 2542 แล้ว ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย แต่เมื่อ มส.มีมติแล้วเบี่ยงเบนเรื่อง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเดียวกันนั้น จึงเห็นว่าน่าจะมีปัญหาการดำเนินการเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย

“แต่เมื่อไปดูแล้วสมเด็จช่วงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระธัมมชโยอย่างยิ่ง มีหลักฐานปรากฏในสื่อสาธารณะรับทราบกันโดยทั่วไป จึงเห็นว่าสมเด็จช่วงเป็นกรรมการ มส. มาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2542 แล้ว ทราบเรื่องมาโดยตลอด และปัจจุบันสมเด็จช่วงป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและยังเป็นประธาน มส.ด้วย” นายไพบูลย์กล่าว

Advertisement

นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่า จึงตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามกฎหมายมาตรา 157 และความผิดฐานอื่นหรือไม่ ขอให้ดีเอสไอรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นความผิดที่อาจเกี่ยวพันกับกรณีสอบสวนพระธัมมชโยร่วมกันฟอกเงินหรือรับของโจรจากสหกรณ์ฯคลองจั่น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีข้อกฎหมายที่คำพิพากษาศาลฎีกาบอกไว้ว่าคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพระภิกษุ พระปกครอง ก็คือ มส. จะไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐในนิยามของ ป.ป.ช. แต่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ จึงเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้

ด้าน พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องไปพิจารณาก่อนนำเรื่องเสนอให้กับอธิบดีดีเอสไอต่อไป ส่วนหนังสือที่ พศ. จะส่งผลการประชุมกรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกนั้น ล่าสุดทาง พศ. ยังไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงมา ทางดีเอสไอยังคงรอหนังสืออยู่ ทั้งนี้ กรณีดีเอสไอเตรียมแถลงข่าวผลสอบรถเบนซ์โบราณ ทะเบียน ขม 99 ของสมเด็จช่วง ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เบื้องต้นยังคงแถลงในวันดังกล่าวเช่นเดิม โดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการแต่อย่างใด ส่วนผลจะออกมาอย่างไรคงต้องรอดูในวันนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image