ไอเออีเอ ชูไทย “ศูนย์นิวเคลียร์เพื่อสันติ” หนุน “ทำหมันแมลง” กำจัด ไวรัสซิกา

วันที่ 7 ธันวาคม ที่ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยหลังจากได้ร่วมหารือกับนายยูกิยะ อะมาโนะ ผู้อำนวยการทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ในโอกาสไปร่วมการประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ณ ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ว่า การได้ร่วมหารือกับผู้อำนวยการ ไอเออีเอ ถือเป็นโอกาสในการตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนสหประชาชาติในการดำเนินการด้านการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของไทยในการส่งเสริมความมั่นคงทางนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ทางไอเออีเอยืนยันพร้อมสนับสนุนให้ไทยเป็น “ศูนย์ความร่วมมือไอเออีเอ” (IAEA Collaborating Centers) เช่น ด้านเทคนิคการทำหมันแมลง (Sterile Insect Technique)

“เนื่องจากเทคนิคการทำหมันแมลงเป็นประเด็นที่ไอเออีเอให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาและโรคอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ไอเออีเอเสนอให้ไทยจัดทำข้อตกลงแบบ Practical Arrangement (PA) กับไอเออีเอ โดยมีระยะเวลาในเบื้องต้น 2 ปี เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างกัน และอีกด้าน คือ ไอโซโทป ไฮโดรโลยี ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น งานคาร์บอน-14 ในการหาอายุวัตถุโบราณด้วยวิธีคาร์บอน-14 งานทางด้านธรณีวิทยา เช่น งานหาอายุน้ำบาดาล รวมถึงแหล่งที่มาของน้ำ งานทางด้านการพิสูจน์ปริมาณ Bio based ในผลิตภัณฑ์พลาสติก งานวิเคราะห์ปริมาณ Bio diesel งานทางด้านความปลอดภัย ตรวจวัดปริมาณตริเตรียมในน้ำฝน เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามเรื่องการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น”รัฐมนตรีวท.กล่าว

นายพิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีการแจ้งความก้าวหน้าของการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ เดือนสิงหาคม 2559 โดย พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งในระหว่างนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างการออกกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยสามารถเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศที่คั่งค้างที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ได้ ภายหลัง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ นายยูกิยะ อะมาโนะ ได้แสดงความยินดีต่อเรื่อง พ.ร.บ. และยินดีที่ไทยจะสามารถเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพิ่มเติม ของความตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์ และข้อแก้ไข รวมถึงการอยู่ร่วมในคณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์ในเร็ววันนี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image