เล็งปีใหม่ปลูกป่าน่าน 60-80% ‘แม่ฟ้าหลวง’ชงของบพิเศษรบ. 4.6 พันล้าน – มั่นใจ 5 ปีฟื้นภูเขาหัวโล้นได้

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นายประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) น่าน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอคำของบประมาณโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปยังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 4,660 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการปลูกป่าสร้างคนบนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัยจ.น่าน ต่อในระยะที่ 2 ช่วงปี 2560 – 2564 ส่วนอีก 1,798 ล้านบาทจะระดมทุนจากภาคเอกชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วย พร้อมเสนอขอใช้งบประมาณจากสำนักปลัดฯ ที่มีงบประมาณค้างอยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งป่า จ.น่านได้ถูกบุกรุกทำลายไปประมาณ 1.8 ล้านไร่ เป็น ส.ป.ก. 5 แสนไร่ ที่ สทก. 2 แสนไร่ หรือเป็นพื้นที่รัฐยอมรับรวมประมาณ 6-7 แสนไร่ ที่เหลือเป็นภูเขาหัวโล้น 1.1 ล้านไร่ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา โดยรัฐสนับสนุนงบดังกล่าวซึ่งไม่ผ่านระบบราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เพราะเวลาเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ติดขัดในหลายเรื่อง

“แท้จริงมีพื้นที่ 7 อำเภอโซนเหนือของ จ.น่าน ตั้งแต่อ.ท่าวังผา ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ และอ.สองแคว แต่ที่จะดำเนินการปี 2560 นี้เป็น 20 ลุ่มน้ำใน 5 อำเภอก่อน เช่น อ.ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ” นายประสิทธิ์กล่าว และว่า การฟื้นฟูป่าจ.น่านปี 2559 ที่ผ่านมา เริ่มจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ปลูกป่าไว้เป็นแนวทางทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ ชำนาญกระบวนการเรียนรู้และเข้าถึงประชาชนหรือหลักการเข้าใจ เข้าถึงแล้วจึงพัฒนา การพัฒนายึดลุ่มน้ำเป็นหลัก ใช้วิชาการแบ่งเป็นป่าเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ป่าต้นน้ำ ป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย เป็นต้น

น่าน ปลูกป่า1

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จังหวัดน่านได้ปรับแนวทางการปลูกป่าต้องปลูกที่คนหรือทำความเข้าใจชาวบ้านในพื้นที่ก่อน แล้วเกิดโครงการ 14 เมนู + 4 ขึ้นมา ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน เอ็นจีโอ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) สนับสนุนทุนส่วนใหญ่ผ่านเจ้าของโครงการ ไปปลูกป่าประมาณกว่า 3 หมื่นไร่ แต่จะต้องผ่านชุมชนและความเห็นชอบจากกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเท่านั้น ปีหน้าอาจจะยังไม่เห็นผลเพราะต้นไม้ยังเล็กอยู่ สัก 5 ปีขึ้นไปคงจะได้ป่าฟื้นคืนมา ในส่วนของทางราชการเองก็จับกุมและดำเนินคดีบุกรุกใหม่ตามปกติ ประกอบกับโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) เป็นการแก้ไขปัญหาบุกรุกหรือทำกินในพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดพื้นที่และพัฒนาอาชีพให้อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตเพิ่มได้ในพื้นที่จำกัด

Advertisement

“โดยจ.น่านทำส่งผ่านกรมป่าไม้ไปแล้ว 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย, ต.บ้านพี้ อ.บ้านหลวงม ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา, ต.ยอด อ.สองแควม ต.เปือ อ.เชียงกลาง และต.ป่าแลวหลวง อ.สันติสุข โดย ต.บัวใหญ่และ ต.เปือได้ผ่านพิจารณา คทช.ไปแล้ว กรมป่าไม้กำลังอนุมัติอย่างเป็นทางการให้พัฒนาป่าน้ำมีด ต.เปือ 183 ไร่ และจะส่งมอบพื้นที่ให้คทช.ชุดที่ 2-3 ต่อไป” นายประสิทธิ์กล่าว

ทสจ.น่าน กล่าวอีกว่า สำหรับต.ป่าแลวหลวง เป็นแปลงคทช.ที่ใหญ่ที่สุด เต็มพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1 หมื่นไร่ บางส่วนที่เหลือได้รังวัดพื้นที่วงรอบเพื่อคัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำล่วงหน้าไปบ้างแล้ว หลังจากนั้นเมื่อแบ่งขอบเขตป่ากับที่ทำกินเสร็จแล้ว หน่วยงานอื่นเช่นสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เข้าไปพัฒนาต่อให้ได้ พร้อมทั้งนโยบายรัฐบาลเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้การลงทุนพัฒนาเกิดความคุ้มค่ายิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าช่วงนี้เป็นจุดสูงสุดของการบุกรุกป่าน่านแล้ว ดูจากภาพถ่ายดาวเทียม ผู้บุกรุกป่าหลังปี 2557 จะถูกยึดพื้นที่คืนมาฟื้นฟูทั้งหมด ไม่ว่าจะจนหรือรวย คนอยู่ก่อนหน้าจะได้รับสิทธิตามความเหมาะสม ไม่เน้นบุคคลแต่จะให้ชุมชนไปบริหารจัดการกันเอง

“หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ กรมป่าไม้อาจมีโครงการวนประชารัฐ ให้สิทธิส่วนหนึ่งอยู่ในลุ่มน้ำชั้น 2 3 แบบอนุรักษ์ ห้ามหาประโยชน์เพื่อการค้า ทั้งนี้ ปี 2560 พื้นที่เป้าหมายจะต้องมีหรือเพิ่มป่าต้นน้ำให้ครบ 60% ขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะต้องมีป่า 40% ตอนนี้น่านมี 60% แต่เป็นเมืองพิเศษที่เป็นต้นน้ำลำธารจึงต้องมีป่าเพิ่มอีก 60 – 80% ดังนั้นหากจะพัฒนาอาชีพใดๆ ก็จะต้องพิเศษกว่าอย่างอื่นด้วย” ทสจ.น่าน กล่าว

Advertisement
นายประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง
นายประสิทธิ์ พัฒนใหญ่ยิ่ง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image